ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) เข้าร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิชาการ ในงาน IMT-GT GMP Expo และร่วมประชุม IMT-GT ณ โรงแรม Batam Marriott Harbour Bay เมืองบาตัม เกาะบาตัม จังหวัดเรียว สาธารณรัฐอินโดนีเซีย วันอังคารที่ 26 ถึงศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 โดยผมกับ ดร.อาณัฐ เด่นยิ่งโยชน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ไปร่วมเฉพาะวันที่ 26-28 เท่านั้น ต้องรีบกลับกรุงเทพฯให้ทันวันศุกร์ ส่วนที่งานมี ดร.นัจวา ยานยา สันติวรกุล นางสาวซูไนนี มาหะมะ นายอมีน มะหมัด และนายอาณัติ มะติมุ ดูแลอยู่
ศวฮ.ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิชาการนวัตกรรมฮาลาลและสินค้าในงาน IMT-GT GMT Expo คำ IMT-GT ย่อมาจาก Indonesia Malaysia Thailand Growth Triangle หรือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ส่วน GMP ย่อมาจาก Gebyar Melayu Pesisir ซึ่งเป็นเจ้าภาพงานฝ่ายอินโดนีเซีย แต่ละประเทศจัดบูธนิทรรศการฝ่ายละ 14 บูธ โดย ศวฮ.เชิญผู้ประกอบกอบจากประเทศไทย กว่า 10 ราย ในเครือข่าย ศวฮ.เข้าร่วมออกบูทและแสดงสินค้าในงานดังกล่าว
สำหรับวันอังคารที่ 26 กันยายน 2566 เป็นวันเปิดงาน มี Mr. H. ANSAR AHMAD. SE. MM ผู้ว่าราชการจังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดนีเซียเป็นประธานในพิธี มีการนำเสนอผลงานต่อผู้นำระดับอาวุโส กรอบแผนงาน IMT-GT จากทั้งสามประเทศ ที่เข้าเยี่ยมชมบูท ในส่วนของฝ่ายไทย นอกจากบูธของผู้ประกอบการและ ศวฮ.แล้วยังมีบูธของ สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะผู้บริหาร 14 จังหวัดภาคใต้จากกระทรวงมหาดไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วม โดยทุกฝ่ายจากสามประเทศร่วมให้ความสนใจ
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามประเทศ IMT-GT เริ่มเช้าวันนี้ พุธที่ 27 กันยายน 2566 ที่โรงแรม Batam Marriott Harbour Bay เมืองบาตัม เกาะบาตัม จังหวัดเรียว อินโดนีเซีย IMT-GT เริ่มใน พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) ปีนี้จึงครบรอบ 30 ปี การประชุม IMT-GT แบ่งเป็น 4 ระดับ 1.การประชุมระดับ IMT-GT Working Group Meeting ซึ่งมี 8 กลุ่ม โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ทำหน้าที่เป็นเลขานุการฝ่ายไทยของกลุ่ม Halal Products and Services (HAPAS); 2.การประชุมระดับ IMT-GT Senior Officials Meeting (SOM) สรุปผลการประชุมจาก 1.; 3.IMT-GT Chief Ministers & Governers Forum (CMGF) ระดับรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด; 4.IMT-GT Summit Meeting ระดับผู้นำประเทศ
การประชุมระดับที่ 1 แต่ละกลุ่มร่วมจัดกัน ระดับที่ 2, 3 จัดเป็นการประชุมใหญ่เช่นที่เกิดที่บาตัมครั้งนี้ ระดับที่ 4 จัดร่วมกับการประชุมผู้นำประเทศอาเซียน งานประชุม IMT-GT จึงเป็นวาระสำคัญ ทาง ศวฮ.ส่งทีมงานเข้าร่วมระดับ 1,2,3 มาโดยตลอด ผมเองร่วมงาน IMT-GT ตั้งแต่ พ.ศ.2545 (ค.ศ.2002) หนึ่งปีก่อนการจัดตั้ง ศวฮ.และเข้าร่วมด้วยตนเองมาโดยตลอด บางครั้งยังเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับ 1 และ 2 ทำงานต่อเนื่องกว่า 20 ปีจึงค่อยๆถอนตัว มอบหมายให้ทีมงานเข้าร่วมแทนนับตั้งแต่ พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017) มาครั้งนี้นี่แหละที่ทางทีมงานขอให้ผมมาร่วมทักทายเพื่อนเก่าๆจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทยสักหน่อย