Suvichanon Non

Sound of Life : ริทึม ทำนอง คำร้อง บทกวี สุวิชานนท์ รัตนภิมล

“สุวิชานนท์ รัตนภิมล” คือศิลปินนักเขียนของประเทศไทย เขาเขียนสารคดี บทความ บทกวี เขียนเพลง เติบโตในแดนใต้ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ประเทศไทย เรียนชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา เรียนจบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรียนต่อปริญญาโทด้านปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เรียนได้หนึ่งเทอมก็ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อทำงานเขียนหนังสืออย่างจริงจัง เขาเดินทางกลับบ้าน เดินทางท่องโลกกว้าง หลังจากนั้นกลับมายังถิ่นภาคเหนือเพื่อทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสารที่นำเสนอเรื่องราวชนเผ่า ชื่อ “เสียงภูเขา” เขาได้รับแรงรับแรงบันดาลใจในช่วงที่ทำงานกองบรรณาธิการนิตยสาร “เสียงภูเขา” เขาออกเดินทางรอนแรมตามป่าเขา ค้างแรมในหมู่บ้านชนเผ่าตามภูเขา บันทึกเรื่องราวชนเผ่าในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เรื่องราวของเขาเป็นที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับนักอ่าน เรื่องคนภูเขา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ เขาได้ยินเสียงดนตรีชนเผ่า ได้พบนักดนตรี ได้ชักนำวัฒนธรรมดนตรีชนเผ่านำเสนอสู่สาธารณชน ดนตรีชนเผ่าที่เคยบรรเลงในป่าเขาจึงเป็นที่รู้จักและสืบทอดถึงลูกหลาน

เดินตามฝันบนเส้นทางชีวิตนักเขียน

ความสนใจในการเขียนหนังสือ เริ่มต้นจากการอ่านหนังสือของนักเขียนชาวเยอรมัน ชื่อ แฮร์มัน เฮสเส (Hermann Karl Hesse ) เพราะวรรณกรรมไทยยุคสมัยนั้น  เราจะนึกถึงผลงานของพระสุนทรโวหาร (ภู่) กลอนฉันทลักษณ์ ซึ่งผมไม่สนใจมากนัก ไม่อาจสร้างแรงกระเพื่อมทางใจให้ผมเขียนสัมผัสบทกลอนได้ ครั้นดูนิยายไทยเป็นเรื่องของตัวละครผัวเมีย ชู้รัก หักหลัง ตบตี ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผมรู้สึกอยากเขียน ไม่ใช่ความฝันของผม แต่เมื่อได้อ่านงานของ แฮร์มัน เฮสเส  ผมรู้สึกทึ่งมาก จับใจเรา  เมื่ออ่านนิยายเรื่อง คนุลน์ (Knulp) หรือ ทางเลือก ผมรู้สึกแปลกใจว่า นิยายมีแบบนี้ด้วยหรือ การเดินเรื่องของตัวละคร ไม่ใช่ตัวละครที่เคลื่อนเข้าฉากแล้วก็ดราม่า ด่าทอ

งานเขียนของ แฮร์มัน เฮสเส บอกถึงการเดินทางในทุ่งกว้าง การค้นหาความหมายชีวิต การค้นหาสัจธรรม การแสวงหาสิ่งดีงาม ค้นหาทางออกของชีวิต ค้นหาทางเลือกการอยู่ในโลก ผมรู้สึกว่า งานแบบนี้มีด้วยหรือ? การเดินเรื่องที่ไม่เหมือนกับนิยายไทย นิยายไทยเริ่มเรื่อง ตัวละครเข้าสู่บทสนทนา (Dialogue) สักพักก็อิจฉาริษยา งานของแฮร์มัน เฮสเส เปิดเรื่องด้วยฉากสวยๆ ในทุ่งหญ้ากว้างๆ เด็กหนุ่มแปลกแยกกับสังคม แปลกแยก (Alienation) กับพื้นที่ที่ตนเองอยู่ ค้นหาความหมายชีวิตของตนเอง รักบทกวี มีขลุ่ยเลาหนึ่ง ผูกเปลนอนค้างแรมตามต้นไม้ ในสุสาน ผมรู้สึกเข้าถึงกับงานเขียนหนังสือและการใช้ชีวิตแบบนี้ ทำให้รู้สึกว่า นิยายที่ดีต้องเป็นแบบนี้มากกว่า

ในช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ถ้าไม่เห็นในมูฟเม้นท์ (Movement) แบบนี้ ผมก็คงไม่เปลี่ยนใจมาสนใจการเขียนหนังสือแน่ๆ หลังจากท่องวรรณกรรมโลก ตามอ่านหนังสือมากมาย พบกับ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Miller Hemingway) จอห์น สไตน์เบ็ก (John Ernst Steinbeck) คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) ลีโอ ตอลสตอย (Count Leo Nikolayevich Tolstoy) แม็กซิม กอร์กี (Maxim gorky) เออร์สกิน คอลด์เวลล์  การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกส กฤษณมูรติ  รพินทรนาถ ฐากุล  ตอนนั้นมีบางคนถามว่า เคยอ่านนิยายเรื่อง “ปิศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือเปล่า ผมอึ้งเลยเพราะในช่วงแรก ผมไม่อ่านนิยายไทย มีนักเขียนไม่กี่คนที่ผมอ่าน อย่างเช่น นิคม รายยวา ผมชอบมาก งานเรื่องสั้นของ สุรชัย จันทิมาธร  งานเขียนของเสกสรรค์  ประเสริฐกุล , ชาติ กอบจิตติ ,จำลอง ฝั่งชลจิตร ,แดนอรัญ แสงทอง  ,กานติ ณ ศรัทธา  ,วินัย อุกฤษณ์ , มาลา คำจันทร์  ,สถาพร  ศรีสัจจัง ,พจนา  จันทรสันติ ผมคิดว่าอยากทำงานเขียนให้ถึงระดับนี้เลย ทั้งของนักเขียนไทย นักเขียนต่างแดน มันเป็นความฝันของผม  

หลังจากนั้น ผมจึงพบกับ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เจองานเขียนของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ แม้งานเขียนจะอยู่ในขนบนิยายไทยหรือการเดินเรื่องแบบนิยายไทย แต่ก็ใกล้เคียงกับชีวิตจริง นั่นคือความสนใจในงานเขียนหนังสือของผม หลังจากนั้น ผมผ่านอีกหลายด่าน การเดินทาง การฝึกฝน พบเจอผู้คน เรียนรู้เรื่องการส่งงานให้กับกองบรรณาธิการ ผมเติบโตจากการทำบทความ ความเรียง รายงานข่าว สกู๊ป สารคดีลงตีพิมพ์ในนิตยสาร (Magazine) ผมไม่ใช่นักเขียนที่นึกอยากเขียนแล้วก็เขียนให้เพื่อนอ่าน งานของเราต้องผ่านบรรณาธิการ ผลงานเราจึงจะปรากฏ เราถึงต้องอดทน ไม่มีเงิน ลำบาก และใช้เวลานานมากกว่าจะได้งานแต่ละชิ้น

ผมใช้ชีวิตเดินทางตามความฝัน เส้นทางชีวิตก็มาจากงานเขียนของ เออร์สกิน คอลด์เวลล์ ว่าด้วยเรื่องของนักเขียน นักเขียนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกระท่อมเพียงลำพังกับเครื่องพิมพ์ดีด ใช้เวลา 3 เดือน ในการเขียนงานแต่ละชิ้นออกมา มันเท่มาก ผมอยากใช้ชีวิตแบบนั้น อยู่ในกระท่อมหลังหนึ่ง เช่าอยู่ ทำงานเขียนอยู่ในเมืองหนึ่ง เอาเดินทางไปตามเมืองต่างๆเพื่อเขียนหนังสือ ฝันหวานมาก เป็นอุดมคติของเรา เออร์สกิน คอลด์เวลล์ คือแรงเสริมส่งอย่างแรง ชีวิตนักเขียนมันโรแมนติก สวย เท่ส์ สง่างาม อยู่เพียงลำพัง โดดเดี่ยวก็สามารถทำงานได้

ในช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผมอ่านงานเขียนของ ฌ็อง-ปอล ซาตร์ ปรัชญาแอ็กซิสต็องเชียลีสต์ ทำให้ผมเริ่มอ่านงานเขียนของ อัลแบ การ์มู ,ฟรีดริช นีตซ์เช ,ฌ็อง-ปอล ซาทร์ ปรัชญาปฏิเสธคุณค่าดั้งเดิม ปฏิเสธวัฒนธรรม ประเพณี แต่ตามใจสุดๆ ผมชอบมากตอนเรียนปรัชญา แต่เมื่อเรียนปริญญาโทคณะปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปรัชญากลายเป็นเรื่องไกลตัว เริ่มตั้งคำถามกับตนเอง ถ้าอยากเขียนหนังสือ เราไม่น่าจะมาแปลภาษาเล่มใหญ่ๆ อย่างนี้ ตอนนั้นผมอยากพิสูจน์ตัวเองว่าชอบอะไรกันแน่ ระหว่างตำรากับงานเขียน  สุดท้ายผมใส่ชุดดำอยู่สามวัน ขี่จักรยานเสือหมอบ ปั่นเวียนรอบมหาวิทยาลัยทุกวัน ไม่เข้าห้องเรียน 3 วัน ปั่นจักรยานเสือหมอบแล้วก็คิด ตอนนั้นผมรู้สึกขัดแย้งอยู่ข้างในใจมาก เพราะการลาออกจากมหาวิทยาลัยคำการทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ผมบอกกับอาจารย์ที่ปรึกษาว่าผมได้งานทำแล้ว แท้จริงผมกลับบ้านที่พัทลุง ทำงานกรีดต้นยางพารา ผมลาพักการเรียนชั่วคราว แต่ก็ไม่กลับสู่ห้องเรียนอีกเลย จนถึงปัจจุบัน

เปลี่ยนชีวิตนักศึกษาสู่วิถีนักเขียน

ผมเคยทำงานเขียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งกลุ่มทำหนังสือ เขาให้ทุนเราทำหนังสือแจกในมหาวิทยาลัย ตั้งกลุ่มวรรณกรรมชื่อ “เลโคลน” เมื่อลาออกจากมหาวิทยาลัย อาจารย์ท่านนี้มีผลส่งบันดาลใจให้ผมมาก แกเขียนจดหมายจากปารีส ช่วงเรียนต่อในฝรั่งเศส จดหมายถูกส่งถึงผมที่สวนยางจำนวนหลายฉบับ ตลอดเวลาปีกว่าๆ ผมเสียดายจดหมายเหล่านั้นมากเพราะจดหมายถูกไฟไหม้ที่เขาใหญ่ เป็นการเขียนโต้ตอบเรื่องงานเขียน ทำให้เรามีพลังใจมาก เขายินดีดูแลงานทุกชิ้นที่ผมเขียน

ตอนนั้น อาจารย์สมบัติ  เครือทอง เรียนวรรณคดีที่ฝรั่งเศส เขามีอิทธิพลกับผมมาก เขาแนะนำนักเขียนตะวันตกอีกหลายท่าน หลังเรียนจบท่านเป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร แล้วมาอาศัยอยู่ที่ภูเก็ต ท่านเป็นแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้า ส่งเสริมแนะนำ งานวรรณกรรมตระกูลต่างๆ การอ่าน การเขียน ตระกูลความจริง อัตถนิยมมายา ผมเขียนคุยกับเขาดุเดือดมาก ผมมีความสุข รอคอยจดหมาย ผมเล่าฉากที่จะเขียนนิยายในหมู่บ้าน เป็นเรื่องของผู้หญิง ที่คาดหวังลูกชาย ฐานะยากจน มีลูกหลายคน  แต่มีคนหนึ่งอยากเป็นนักร้องก็เลยเดินตามฝัน เราพูดถึงในหมู่บ้านที่คอมมิวนิสต์เข้ามาในหมู่บ้าน เราเกิดความสงสัย ผมเขียนได้หนึ่งในสี่ของเรื่องก็หยุดเขียน

ผมเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เทอมเดียว ก็ถามตนเองว่า นายอยากทำอะไร แบกหนังสือกลับห้องทุกวัน ปรัชญาตะวันตก ในเมื่ออยากเขียนหนังสือทำไม่ออกไปเขียนหนังสือ กระทั่งหยุดพักการเรียนแล้วเดินทางกลับใต้ จังหวัดพัทลุง ผมบอกแม่ว่าขอหยุดเรียน ไม่กล้าบอกแม่ว่าลาออก เราใช้เวลากรีดยางกลางคืน กลางวันหาข้อมูลกับชาวบ้าน คุยกับชาวบ้าน หาข้อมูลเก่าๆ คิดว่าจะกลับมาเขียนเรื่องราวหมู่บ้านของตนเอง เหมือนกับนายคนุลน์กลับบ้าน ฝันหวานมาก ผมใช้ชีวิตดุเดือดมาก เหนื่อย ทำงานหนัก ตอนนั้นจำได้ว่า ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์  มีงานอัลบั้มแรกออกมา …ถ้าเธอเหนื่อยนัก หยุดพักเสียก่อน ล้มตัวลงนอน แนบตักฉันนี่ จะหนาวจะร้อน จะคอยพัดวี หลับฝันถึงสิ่งดี หลีกหนีสิ่งเลว… ผมหมุนเครื่องนวดยางพาราไป ฟังเพลงไปด้วย เหงื่อไหลซกๆ แต่เรามีกำลังแรงใจมาก ทำงานหนักมาก เขียนหนังสือด้วยเครื่องพิมพ์ดีดในเวลากลางคืน

พ่อกับแม่ไม่มีความสุข เมื่อชาวบ้านเริ่มนินทาว่า ผมเรียนปริญญาโทจนเพี้ยน ผมต่างจากเด็กคนอื่นในหมู่บ้านที่จบปริญญาตรีแล้วทำงาน ตอนดึกคืนหนึ่ง ผมได้ยินเสียงแม่ร้องไห้ หลังจากนั้น ผมเดินทางด้วยรถไฟเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกับกีตาร์ เครื่องพิมพ์ดีดและหนังสือ เป้าหมายเดินทางเขียนหนังสือ ผมขออาศัยอยู่บ้านเพื่อน พักอยู่เกาะมันใน จังหวัดระยอง 3 เดือน เพื่อเขียนหนังสือ เขียนเพลง ตอนนั้นงานเขียนหนังสือยังไม่ดีพอ แต่อยากเขียน เขียนทุกวัน ที่เกาะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีคน นานครั้งจึงจะเดินทางออกจากเกาะ

ตอนนั้นผมเหมือนคนหลุดโลก ใช้ชีวิตบนเกาะกลางทะเล มองออกไปไกลๆ เห็นแต่ฝั่ง ผมเลี้ยงชีวิตด้วยการตกปลาหมึก มีเครื่องมือหาปลาหมึก ชักคะเย่อปลาหมึก คนซึ่งอาศัยอยู่ก่อนเขาสอนให้จัดการกับปลาหมึก เวลาน้ำขึ้นสูงก็หย่อนเหยื่อเทียมแล้วลาก พอได้ปลาหมึกก็เอากลับที่พัก  ถ้าได้เยอะก็ตากแห้ง ถ้าหมดก็หาใหม่ มีข้าวสารให้อย่างเพียงพอที่จะกินได้เป็นเดือน ตอนนั้นเข้าสู่ความเป็นนักเขียนอย่างที่ฝันไว้ หลังจากนั้น ผมกลับเข้ามากรุงเทพฯ มีกีตาร์หนึ่งตัว เขียนเพลง เขียนบทกวี จากนั้นผมก็ย้ายไปช่วยเพื่อนทำงานที่สุรินทร์ เขาชวนทำงานเพลงเด็ก เขียนเพลง เล่านิทาน ทำหนังสือ ทำได้เกือบปี จากนั้นผมก็เดินทางกลับเชียงใหม่อีกครั้ง ทำหนังสือชื่อ “เสียงภูเขา”

ในช่วงที่อยู่เชียงใหม่ ผมเขียนหนังสือตลอด ตอนแรกเราอยากเขียนวรรณกรรมอย่างเดียว แต่พื้นที่สำหรับงานวรรณกรรมมีน้อยมาก ผมจึงเขียนสารคดี ความเรียง เขียนทุกอย่างที่เป็นงานเขียน ซึ่งผมไม่ปฏิเสธงานในทุกรูปแบบ ทำให้ผมสามารถทำงานเขียนหนังสือได้หลากหลาย เพราะในยุคสมัยนั้น นักเขียนเก็บข้อมูลและทำให้เป็นเรื่องสั้น ถ้าไม่เป็นเรื่องสั้นเขาไม่ปล่อยงานเผยแพร่ต่อสาธารณชน แต่ผมไม่สน ผมเขียนความเรียง บันทึก บทกวี กลอนเปล่า ผมจึงมีพื้นที่ให้แสดงความสามารถ บทกวีชิ้นแรกของผมเกี่ยวกับทางเดินบนฝั่งแม่น้ำเงา ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ใช้ชื่อคัดบทกวีว่า นายพรานผี พูดถึงผมจนมั่นใจในตัวเองมากว่ามาถูกทางแล้ว ท่านบอกว่า ผมเป็นรุ่นใหญ่ปลอมตัวมา และให้คะแนนเป็นดาวห้าดาวสำหรับงานเขียนชิ้นแรก  

บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ผมแจ้งเกิดกับ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ หรือ นายพรานผี บนหน้าหนังสือข่าวพิเศษ และอาทิตย์เคล็ดลับ ผมได้ฝึกฝน ผมไม่สนุกกับการเขียนกลอนสัมผัส ไม่ชอบกลอนขนบ ซึ่งมันจำกัดมากสำหรับงานเขียนบทกวี จำกัดความคิด พยัญชนะ สู้กลอนที่ระเบิดออกมาจากใจไม่ได้ เรารู้สึก กลั่นออกมา ทะลุออกไป เราชอบพลังแบบนี้ที่เป็นมวลสารแบบตรงใจ มาจากข้างในจริงๆ เราฝึกฝนกระทั่งรู้สึกว่า คำเป็นคำของเรา มุมมองของเรา ซึ่งเวลาแต่งกลอน คำที่คล้ายกับคำของคนอื่น ผมไม่ใช้ หรือเลี่ยงหลบให้มากที่สุด มันต้องเป็นตัวตนของเรา เป็นความรู้สึกของเรา

ตอนนั้น ผมอยู่ที่สุรินทร์ ผมเปิดดูหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “เสียงภูเขา” เมื่อเห็นครั้งแรก ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะทำเป็นนิตยสารดีๆได้ หลังจากนั้น ไม่นานผมได้ข่าวว่าหนังสือเล่มนี้ต้องการคนไปทำงาน ซึ่งอยู่ในสายงาน NGO เขาก็แจ้งต่อๆกันมา ใครสนใจก็ไปสมัครงาน ผมก็เดินทางไปเชียงใหม่ มีกระเป๋าใบเดียว เดินเข้าไปในซอยแถวสันติธรรม หลังตลาดธานินทร์ ย่านช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ เดินเข้าไปถามว่า มูลนิธิพัฒนาภาคเหนืออยู่ที่ไหน กระทั่งเจอคนประสานงานทำหนังสือ ผมรอสัมภาษณ์ เขาบอกพรุ่งนี้ให้มา ผมขอนอนที่อาคารสำนักงาน ผมนอนในอาคารไม้แห่งนั้น กระทั่งถึงรุ่งเช้า ผมบอกกับผู้ให้สัมภาษณ์ว่า ผมอยากทำงานหนังสือเล่มนี้ ผมอยากสัมผัสผู้คนบนดอย ผมบอกเขาอย่างนั้นแต่ความจริงเงื่อนไขที่เราอยากอยู่ก็เพื่อจะเขียนหนังสือ เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ มีรายได้ มีผลงานเป็นเรื่องเป็นราว ที่สำคัญเป็นเรื่องของชาวเขา เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับผม ปรากฏว่า มีคนแข่งกับผมเพียง 2 คน เขาเลือกผมทำงาน ผมเริ่มทำงานที่นั่น ทำงานบนโลกภูเขาทุกแห่ง ทำให้ผมเจอพี่ยอด วีรศักดิ์ ยอดระบำ เขาเพิ่งออกจากป่า

ผมเห็นงานพี่ยอด ในฟ้าเมืองทองมาก่อน ตอนนั้น อยู่ปี 4 หลังจากนั้น พ.ศ.2533 ผมพบพี่ยอด มีคนบอกว่า พี่ยอดอยู่ลำพูน เจอกันวันแรกก็ถูกชะตา เขาทำให้ผมศรัทธา ทั้งที่ไม่รู้จักอะไรกันมากมาย เหมือนเจอเพื่อนเก่า หลังจากนั้นพี่ยอดก็มาหาผมที่ออฟฟิต ขับรถจี๊ป ชวนผมออกข้างนอก พูดคุยกัน ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งที่ผมออกเดินทางกับพี่ยอดเป็นว่าเล่น นิตยสารเสียงภูเขาให้อิสระกับการทำงานกับผมมาก

โลกภูเขาในความทรงจำ

เรื่องราวชนเผ่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เมื่อก่อนนั้น บุคคลภายนอกหมู่บ้านไม่รู้เลย ผมต้องเก็บข้อมูลรายละเอียดทุกวัน กว่าจะรู้ว่าเป็นเผ่าอะไร ปกาเกอะญอ , มูเซอ , ม้ง ,ลีซอ , เย้า ,ดาระอั้ง ,ลัวะ ,ลื้อ ,ขมุ ฯลฯ ตอนแรกผมคิดว่า พวกเขาต้องอยู่ในป่า ลึกลับ ไม่ติดต่อกับโลกภายนอก เมื่อได้เห็น ได้สัมผัสของจริง เขามีอะไรมากกว่าที่คิด เรียบง่าย ดั้งเดิม เป็นธรรมชาติ  ผมรู้จักหมู่บ้านปกาเกอะญอ หมู่บ้านม้ง หมู่บ้านลีซอ หลังคามุงด้วยใบตองตึง แป้นเกร็ด ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีรถ มีแต่เสียงตั๊กแตน เสียงป่า เสียงเคาะเสียงตี ชาวบ้านยังสร้างบ้านด้วยส่วนผสมของไม้ไผ่ ไม้ ใบไม้ พืชพัก เมล็ดพันธุ์แปลกแตกต่าง เหมือนอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง ไม่ใช้ภาษาที่เราคุ้นเคย ตอนกลางคืนมีเพียงวิทยุทรานซิสเตอร์ ได้ยินเสียงคนเล่นเตหน่า เสียงกีตาร์ตัวเดียวลอยมาในอากาศเย็นๆ ตอนกลางคืน ผมรู้สึกดีมากๆ 

นั่นเป็นที่มาของการรู้จักเพลงภูเขา เพลงพี่ทองดีดังอยู่ตามสถานีวิทยุ ผมถามชาวบ้านที่ไปพักด้วยว่าใครร้อง เขาบอก ทองดี ตุ๊โพ อยู่บ้านหนองเจ็ดหน่วย มูเส่คี (อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน) ผมตามหาพี่ทองดีจนเจอ แล้วผมก็รู้จักกับพี่ลีซะ ชูชื่นจิตสกุล ในเวลาต่อมา ทำเพลงด้วยกัน เดินทางเล่นดนตรีด้วยกัน ผมเล่นดนตรีแต่งเพลงมาตลอด กลับมาจากภูเขาก็เขียนหนังสือ เล่นดนตรี แต่งเพลง ผมมีวินัยกับงานเขียนมาก บางทีเขียนจนหลับคาโต๊ะ บางทีก็ตื่นมากลางดึกเขียนจนสว่าง ใช้เครื่องพิมพ์ดีด อย่าลืมว่า เวลาที่เราส่งต้นฉบับเราต้องใช้ร่างที่สะอาดที่สุด ฉะนั้น เวลาที่เราแก้ไขคำผิดเยอะๆ ทำให้หน้ากระดาษเลอะ  เราต้องพิมพ์ใหม่ เรื่องหนึ่ง เวลาจะส่งอย่างน้อยต้องเขียน 3 ร่าง ต้องใช้พลังมาก แก้จนลงตัวถึงจะส่งนิตยสารได้  

ช่วงเวลาที่พบเจอชนเผ่าต่างๆ ผมชอบมากเลย เพราะเราชอบบรรยากาศที่ช้า อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มองเห็นไม้ฟืนวางเป็นแถว แค่นี้ก็ตื่นเต้นแล้ว กลางคืนก่อไฟ กลิ่นควันไฟก็หอม ควันไฟไม่เหม็นเหมือนควันไฟในปัจจุบัน จะหยิบจับอะไร ชีวิตมันช้า ไม่ต้องเร่งรีบ วัสดุที่ใช้ อาหารที่ใช้ ข้าวที่ปลูกเอง แตงก็เก็บมาจากไร่ ใหม่ๆ สดๆ ไม่มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไม่มีปลากระป๋อง มีแต่ผักอีหลืน มะเขือ เนื้อไก่ เนื้อหมู หรือปลาจากแม่น้ำ มันเป็นสังคมที่สงบสุข ไม่แข่งขัน ไม่วุ่นวาย รุ่งเช้าก็ไปทำไร่ทำนา ที่นาก็เป็นผืนนาเล็กๆ อยู่ในหุบเขา ไร่ข้าวบนไหล่เขาเต็มไปด้วยอาหาร เข้าไปมุมไหน มันชอบ จับใจไปหมด ทุกชนเผ่าใกล้เคียงกันมาก

แม้ว่า ปัญหาเรื่องยาเสพติดยังรุนแรง แต่เราไปโดยเจตนาอยากเรียนรู้ ไม่ระมัดระวังตัว เวลาเจอคนเสพฝิ่นเราก็มอง เขาเสพฝิ่นกันยังไง วิถีการผลิต ชีวิตความเป็นอยู่ก็คล้ายกันทุกเผ่า เพียงแต่ชนเผ่าปกาเกอะญอ เข้มแข็งในพื้นที่ของการผลิต มีไร่ข้าวที่แข็งแรง มีอาหารเพียงพอ หลากหลาย ถ้ามูเซอ ก็ยังลำบาก มีข้าวไม่พอกิน ข้าวต้องไปซื้อ รับจ้างทำงาน คนปกาเกอะญออยู่กับบ้าน กับไร่นา ไม่ค่อยเห็นมีใครไปรับจ้าง ม้งก็ยังรับจ้างเพื่อเอาเงินมาซื้อข้าว

ชาวเขาพึ่งพาตนเองได้มาก แทบจะเป็นชุมชนอุดมคติ แทบไม่ต้องพึ่งพาภายนอก อยู่ได้อย่างมีความสุข ผมมองเห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติที่ละเอียดมาก การหาปลา การตัดไม้ไว้ใช้ประโยชน์ การให้โอกาสไม้เติบโต เขาทำจริงๆ ไม่ใช่เพียงการพูดเฉยๆ หรือเผ่ามูเซอ ประเพณีเต้นรำรอบต้นวอ มันงดงามมาก คนทั้งหมู่บ้านเต้นจะคึรอบต้นไม้เพื่อถวายพระเจ้าอื่อซา โอ้โห! ในประเทศไทยมีอะไรอย่างนี้ด้วยหรือ ในหมู่บ้านไม่มีคนทำงาน ปิดหมู่บ้านแล้วทำขนมถวายพระเจ้าของเขา เผ่าลัวะเขาก็ฆ่าควายเพื่อเซ่นไหว้เสาหลักเมือง มองเห็นการทอผ้าลายน้ำไหลที่สวยงามมาก ลายเสื้อก็สวยงาม ภาษาพูดก็แปลกที่สุด ทุกอย่างมองเห็นแล้วงดงาม ไม่ได้รู้สึกว่า เผ่านี้เป็นคนเสพยาเสพติด เผ่านี้เป็นคนขายตัว เผ่านี้เป็นคนทำลายป่า ไม่ได้รู้สึกแบบนี้เลย เมื่อ 20 ปีก่อน มีเพียงชุมชนเล็กๆ ไม่มีถนน ไม่มีรถ เหมือนรังต่อรังแตนที่อยู่ในป่า

ผมมองเห็นเขากินข้าวกับน้ำพริกและเกลือ ล้อมวงกันกินอย่างเอร็ดอร่อย มีผักเยอะมาก มีปลา ห่อหมกปลาแม่น้ำ แค่นั้น กินอย่างเอร็ดอร่อย มันทำให้เราอยากสัมผัส เราอยากรู้ว่า เขาอยู่อย่างไร กินอย่างไร ผมจึงรู้ว่า เขามีขนบการใช้ชีวิต พืชพันธุ์ธัญญาหาร เครื่องแต่งกาย พิธีกรรม ความเชื่อ ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องราวเหล่านี้ เรื่องราวใหม่ๆจากภูเขา งานทุกชิ้นได้รับการตอบรับ บางทีผลงานลงปกนิตยสารเรียงกันอยู่ห้าหกฉบับในเดือนหนึ่งๆ  กระทั่งต้องใช้นามปากกาเพื่อจะเขียนงานให้เยอะขึ้น

ผมลาออกจากนิตสาร “เสียงภูเขา” ในช่วงเวลาที่องค์กรทำงานอิ่มตัวด้วย เป็นส่วนหนึ่งของงานองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ (NGO) เป็นงานเกี่ยวกับสิทธิ เรื่องมนุษยชน สิทธิในที่ดิน ที่อยู่ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย สิทธิความเป็นมนุษย์ ผมทำงาน 7-8 ปี และมีครอบครัว ถ้าออกเดินทางเหมือนสมัยก่อนไม่น่าจะเหมาะ อีกอย่างโครงการใกล้จะปิดตัว ผมจึงตัดสินใจทำงานเป็นนักเขียนอาชีพเต็มตัว แล้วก็เขียนหนังสือส่งต้นฉบับให้กับกองบรรณาธิการ ใช้เวลาเลี้ยงลูก  

ช่วงที่ออกมาจาก “เสียงภูเขา” ตอนนั้นเงินเดือนไม่มี ผมจะวางแผนทำงานเขียนหนังสือ ผมรู้ว่า คอลัมน์ไหนในนิตยสารเป็นคอลัมน์ประจำ คอลัมน์ไหนเป็นคอลัมน์รับเรื่องจากนักเขียน ผมมีตารางในการส่งงาน หลังจากนั้นรอเพื่อให้ผลงานได้รับการตีพิมพ์ บางทีตีพิมพ์พร้อมกัน 3-4 เล่มในสัปดาห์ ผลงานของผมจะถูกตีพิมพ์แทบทุกสัปดาห์ บางทีก็สารคดี ความเรียง บทกวี บันทึก เรื่องสั้น หมุนวนกันไป แต่ละเดือนก็พอมีรายได้เลี้ยงชีวิต 

ตอนนั้น เป็นนักเขียนอาชีพ ถ้าเงินไม่พอก็เข้าโรงจำนำ นอกจากโรงจำนำ มีอะไรขายได้ก็นำไปขาย เพื่อจะมีเงินนำไปเลี้ยงลูก ผมสู้ชีวิตมากเพื่ออยู่ในอาชีพนักเขียน ขายเหล็ก ส่วน กีตาร์ เครื่องพิมพ์ดีด หรือสิ่งอื่นที่สามารถจำนำได้เราก็นำไปจำนำ เพื่อจะได้มีเวลาเขียนหนังสือ แต่เราใช้ชีวิตอย่างลำบาก เพราะมีค่าใช้จ่าย ค่าเช่าบ้าน ค่ารถที่ต้องผ่อนชำระ ค่าใช้จ่ายของลูก ค่าเดินทาง อัตคัดไม่เพียงพอ เขียนหนังสือเป็นเวลา 10 ปี จึงมีคอลัมของตนเอง เขียนให้กับสยามรัฐ เนชั่นสุดสัปดาห์ มติชนสุดสัปดาห์ หนังสือข่าวพิเศษ นอจากนั้นก็เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ผู้จัดการ กรุงเทพธุรกิจ ทำงานเหมือนเหมือนโรงงาน

ดนตรีชนเผ่าคือดนตรีโลก

ผมชอบกีตาร์ตั้งแต่อายุ 14 ปี เริ่มฝึกเล่นกีตาร์ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยก็ตั้งวงดนตรี เล่นเพลงของแฮมเมอร์ เล่นเพลงเพื่อชีวิต เขียนเพลงครั้งแรก ตอนอยู่ชั้นปีที่ 3 เขียนไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยเป็นเพลง ช่วงที่หยุดอยู่บ้านก็เขียนเพลง บางเพลงยาวมาก  เพลงส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงที่เป็นนามธรรม เขียนไว้เยอะมาก หลังจากนั้น ผมทำงานขเขียนเพลงอยู่ตลอด แต่ช่วงที่ได้รับความมั่นใจมากๆ ตอนทำนิตยสารเสียงภูเขา มีพี่คนหนึ่งชื่อ ไผท ภูธา เราได้พบกันในบ้านของเขา เคยเอาเพลงให้เขาดู ร้องให้เขาฟัง เขาก็บอกเพลงแต่งดี แต่เพลงที่ดีควรเป็นแบบนี้นะ จังหวะตัวโน๊ตต้องมีกี่ตัว ห้องหนึ่งมีกี่คำ ท่อนฮุกต้องฮุกยังไง เป็นมาตรฐานของเพลงที่ดี ที่จะทำให้คนฟังรู้สึกแปลกใจได้ การเลือกคำมาใส่จะต้องไม่ขาดไม่เกิน จะต้องพอดี ผมผ่านบทเรียน มัความมั่นใจมากพอสมควร ผมเขียนเพลงไว้นับร้อยเพลง บันทึกเสียงแล้ว 40 เพลง วัยหนุ่มเราก็อยากเป็นศิลปินนักร้อง แต่โอกาสผมมีน้อยมาก ผมจึงทำเพลงเอง ขายเอง

ลูกชายได้รับอิทธิพลทางดนตรีอย่างมาก ผมเลี้ยงลูกด้วยเสียงดนตรี ทันทีที่ลูกตื่นก็ได้ยินเสียงฮาโมนิคเบาๆ เสียงกีตาร์เบาๆ ทุกวัน เปิดเพลงคลาสสิคตลอดวัน ก็ไม่คิดหวังว่า ลูกจะจับไวโอลิน เราอยากให้ลูกเป็นคนดี อ่อนโยนกับโลก เปิดเพลงดนตรีคลาสสิคเป็นกิจวัตรจนลูกหลับไปทุกวัน ที่บ้านเต็มไปด้วยเพลง คาสเส็ต ซีดี เล่นดนตรีบ้าง เพื่อนฝูงมาเที่ยวที่บ้านก็เล่นดนตรีกัน ขึ้นเวทีก็พาลูกชายไปด้วย พอลูกชายเริ่มเล่นไวโอลิน ก็พาไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ ตอนแรกเราก็คิดว่า อยากพาลูกชายไปเป็นเพื่อน เพื่อให้รู้ว่าพ่อกำลังทำอะไร

เพลงภูเขา คนที่มีอิทธิพลทางดนตรี คือ มิชชันนารีหรือครูสอนศาสนา เมื่อ 50 ปีก่อน คนเหล่านี้เข้าไปพร้อมกับบทเพลง เป็นบทเพลงที่ไพเราะมาก เมื่อร้องเสียงประสานกับกีตาร์ไพเราะมาก ส่งผ่านถึงคนภูเขา สิ่งเหล่านี้ทำให้คนภูเขาได้สัมผัสกับดนตรีดีๆ เสียงดีๆ แทบจะเรียกว่าสัมผัสดนตรีมากว่าคนข้างล่าง เขารู้จักท่วงทำนอง ซึ่งเพลงในโบสถ์เป็นเพลงที่ดีมาก เพลงดีๆ คนข้างนอกไม่รู้เรื่องเลย คนกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอเขาร้องคล่อง ประสานคู่เสียงได้อย่างแม่นยำแล้วเพราะมันมาจากโบสถ์ แล้วก็ส่งผ่านถึงคนสร้างเพลง ใช้เนื้อหาความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติ ชีวิตกับความยากลำบาก สิทธิตนเอง มันทำให้บทเพลงเติบโต ซึ่งเขาไม่มีโอกาสเอาเพลงเหล่านี้มาร้องมาเล่นให้คนอื่นได้ฟังเลย ผมได้ไอเดียนำเพลงภูเขามาเปิดเวที สร้างเวทีคอนเสิร์ตให้เกิดในเมือง ให้โอกาสเขาได้บันทึกเสียง กระทั่งเกิดงานแสดงดนตรีในเมืองหลวง ที่ภาคใต้ก็เคย เป็นผลพวงมาจากสิ่งที่มีอยู่ ทำให้เขาสร้างต่อ เมื่อมีเวลาก็กลายเป็นการจุดประกาย เพลงภูเขาจึงถูกจุดขึ้นมา

ตอนนั้น ชิ (ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์) เล่นกีตาร์แล้วเอาเพลงที่แต่งมาให้ผมฟัง หลังจากนั้น ก็เอาเพลงบันทึกเสียงเป็นกีตาร์ เราคุยกันเรื่องเตหน่า ว่าจะทำอย่างไรกับเตหน่า เพราะคนเล่นเตหน่าขาดแคลน เตหน่าถูกห้ามมิให้นำมาเล่นในโบสถ์คริสต์ ผมก็บอกว่า เราจะทำอย่างไรให้เตหน่าเข้ามาอยู่ในวิถีชนเผ่า ชิ ก็เป็นคนหนึ่งที่ทำให้เตหน่า รวมถึงตือโพ มือเตหน่า กลับมา คนเพลงภูเขาเมื่อเดินทางมาเยือนเชียงใหม่ เขาจะเข้ามาหาผม มาพักที่บ้าน มาเจอธันวา พอวา เป็นประจำ คลีโพ น้องคลีก็สร้างเพลงเตหน่าเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้นมา ด้วยอิทธิจากพ่อ พี่ทองดี ตุ๊โพ เล่นเพลงเตหน่า เพลงภูเขาได้ส่งผ่านรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ผมเห็นถึงพัฒนาการมาตลอดนะ

เครื่องดนตรีชนเผ่า เผ่าปะล่องหรือดาระอั้งก็จะมี “ดิ่ง” แต่เราหาคนที่อยากเป็นศิลปินชนเผ่า เป็นนักดนตรีที่อยากเสนอเพลงตนเองจริงๆได้ยาก ถ้าเจอก็เป็นเพลงเดิมๆ ดิ่ง กับวอ ของดาระอั้ง เพราะมาก ลีซอ มีพิณจือลือ พิณที่ใช้หนังงูห่อหุ้ม หรือไม่ก็แคนม้ง ถ้าเป็นเย้าลีซอ ก็กลอง ปี่ คล้ายปี่มโนรา หรือว่า ขมุก็จะเป็นเครื่องดนตรีประเภทไม้ไผ่ ร้องกันสดๆ แต่เราไม่เจอคนที่สร้างงานเหมือนคนกะเหรี่ยง เหมือนชิ นำเพลงมาเป็นปึก ซึ่งมันจะเป็นอะไรก็ได้ เพราะเขาสร้างงาน ส่วนเผ่าอื่นเราจะเจอผู้เฒ่า เด็กหนุ่มเมื่อถามก็จะเขินๆ อายๆ ไม่ค่อยจับมันเท่าไหร่ มันไม่ใช่ที่จะเริ่มอะไรได้ ความจริงผมเล็งไว้ทุกเผ่า ตอนนี้ ก็ขมุ มีเพจ ภูฉา ทุ่งขุนหลวง ตอนนี้เขามีกลุ่มอยู่ที่จังหวัดน่าน ชื่อ เฉลิม พยายามจะนำเสนอเพลงตัวเอง เนื้อหาของเพลงชนเผ่า ก็จะเกี่ยวข้องกับ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การอยู่การกิน การให้กำลังใจ เมื่อยู่อย่างยากลำบากเราก็ต้องสู้ วิถีชีวิต เรื่องตัดพ้อต่อว่า เช่นเป็นคนป่าไม่มีใครสนใจ หรือ ฉันอยู่ตรงนี้มานานทำไมต้องมาไล่ฉัน ที่ของฉันกว้างใหญ่เท่ากับปีกนกเหยี่ยว ถ้ามีเสียงนกเหยี่ยวที่ไหนแผ่นดินของฉันจะขยายไปที่นั่น เราฟังแล้วเรารู้สึกดีมาก

ผมคิดว่ามันเป็นอัตลักษณ์ใหม่ เพลงภูเขาถูกขับร้อง แสดงคอนเสิร์ตใหญ่ หนังสือพิมพ์เริ่มเผยแพร่ ทีวีเริ่มออกรายการ ชิ สุวิชาน เป็นรอยต่อของดนตรีภูเขารุ่นใหม่ เพลงของเขาตอบสนองคนรุ่นใหม่ได้ดีขึ้น เขาก็มีทักษะในการหยิบคำสอนเก่าๆ เข้าอยู่ในท่วงทำนองของเขา เรื่องเล่าของเขาเติมเองบ้าง เอารากเหง้าของเขา ผ่านไลน์เตหน่า เมโลดี้ใหม่ น้องคลี หรือวงคลีโพก็กำลังงอกงาม  มีเพลงใหม่ๆที่แต่งขึ้นได้น่าฟังเหลือเกิน ยังมีมาเรื่อยๆ

เครื่องดนตรีชนเผ่าถือเป็นสีสัน แต่สีสันเหล่านี้เป็นเครื่องดนตรีของโลก เครื่องดนตรีชนเผ่าไม่ใช่ดนตรีของประเทศอย่างเดียว แต่เป็นดนตรีของโลก เนื้อเพลง ดนตรี มันสามารถเดินทางไปในโลก สามารถไปเล่นต่างประเทศให้คนอื่นฟัง ดนตรีของชาวกะเหรี่ยง ดาระอั้ง ขมุ ไม่มีที่ไหน มีในคุณ เหมือนดนตรีของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไม่มีเสียงใดที่จะเป็นที่รู้จักเหมือนเสียงเตหน่า ถ้าจะมีก็เครื่องดนตรีของประเทศ พม่า อินเดีย ที่เสียงคล้ายกัน แต่ท่วงทำนองและเนื้อหาเป็นคนละท่วงทำนอง คนละรูปแบบหน้าตา ก็ต่างกัน การอธิบายเรื่องก็ต่างกัน ดนตรีชนเผ่าเป็นดนตรีท้องถิ่น แต่ก็เป็นดนตรีของโลก สามารถส่งผ่าน ข้ามผ่านพรมแดน ล่าสุด “ชิ สุวิชาน” เดินทางไปเล่นเตหน่าที่มองโกเลีย ออสเตรเลีย เนปาล ญี่ปุ่น เพราะมันเป็นดนตรีโลก ในสายเลือดมีเมโลดี้ที่แสดงถึงความเป็นชนเผ่า คำประโยคสั้นๆ ที่ออกเสียงก็มีเสน่ห์ ยิ่งเขาใส่เมโลดี้ ขับร้อง แปล มันจับใจ ผมว่าเพลงเหล่านี้อยู่ในกระแสความนิยมของคนรุ่นมใหม่ เพลงก็มีทางเดินของมัน มันเป็นดนตรีของโลก มันจะมีชีวิตเล่าเรื่องไปอีกยาวนาน

admin