เส้นสายเสียง “พิณ” เครื่องดนตรีพื้นบ้านของภาคอีสาน ประเทศไทย บนรากฐานงานดนตรีไทยสากลยุคสมัยใหม่ ในจังหวะเพลงร็อครุนแรงหนักหน่วงของประเทศฝั่งตะวันตก อาจขัดแย้งกันทางความรู้สึกนึกคิด แต่เมื่อลองฟังบทเพลงอันถูกขับร้องและบรรเลงโดยวงดนตรีจุลโหฬาร หรือ Junlaholaan Brand วงดนตรีลูกอีสานอันผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นถิ่น ทำให้รู้สึกได้ว่า เสียงพิณ เสียงแคนและเสียงขับร้องอันมีรากฐานเพลงลูกทุ่งหมอลำ เดินทางไปกับท่วงทำนองเสียงกีตาร์ของ ยั๊วะ อลงกฎ เจริญธรรม หัวหน้าวงจุลโหฬาร อย่างลงตัว
นักดนตรีพื้นบ้านจากภาคอีสาน ประเทศไทย
ผมได้รับการปลูกฝั่งจากสิ่งแวดล้อมบ้านเกิดจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับอิทธิพลจากการฟังเพลงจากพ่อกับแม่ พ่อของผมชอบฟังเพลงเพื่อชีวิต ส่วนแม่ชอบฟังเพลงหมอลำ แม่พาผมไปเที่ยวตามงานวัด เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน วัดจะมีการแสดงหมอลำกลอน ลักษณะการเล่นมีคนเป่า “แคน” เพียงคนเดียว เล่นคู่กับนักร้องอีกหนึ่งคน ผมเป็นเด็กเติบโตจากบ้านนอก วัฒนธรรมแบบนี้คือเรื่องปกติในภาคอีสาน เมื่อเติบโตเรียนอยู่ชั้นประถม 5 ผมเริ่มหัดเล่นกีต้าร์ ความจริงผมชอบตีกลองมากกว่า แต่กลองมีราคาค่อนข้างแพง ผมมีโอกาสตีกลองก็เมื่อตอนมีงานเทศกาลสำคัญของภาคอีสาน เมื่อมีรถขบวนแห่แบบล้อเข็ญ ผมเป็นคนเดินตามและมักจะขอโอกาสตีกลองในขบวนแห่สักครั้ง นั่นคือบรรยากาศสิ่งแวดล้อมของอีสาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ประเทศไทย ที่ผมเติบโต
ตอนเป็นวัยรุ่น ผมชอบฟังเพลงจำนวนเยอะมาก ผมรู้สึกอยู่เสมอว่า ถ้าจำกัดการเพลงฟังเพียงแนวเดียวเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะประเทศไทยมีเพลงเยอะมาก มีดนตรีหลายแนวเพลงให้เลือกฟัง ผมฟังเกือบทุกแนวเพลง ฟังเพลงเพื่อชีวิต เช่น คาราบาว เพลงร็อค อย่างเช่น หินเหล็กไฟ หรือ เสือธนพล อินทฤทธิ์ ฯลฯ
เมื่อผมย้ายมาอยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งวงดนตรีของตนเอง แต่ผมก็ไม่เคยคิดจะเล่นดนตรีเป็นอาชีพ ไม่คิดว่าอาชีพนักดนตรีจะเลี้ยงชีพได้ อาชีพหลักของผมคือขายเสื้อผ้าแถวมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตอนนั้นผมฟังเพลงใต้ดิน (Underground) เริ่มทำวงดนตรีร็อคซึ่งมีกลิ่นอายของความเป็นพื้นถิ่น หลังจากนั้น ย้ายมาอยู่จังหวัดสกลนครจึงเริ่มมีรายได้จากการเล่นดนตรี ผมเริ่ม Audition หานักร้องนำ เริ่มรู้จักกับ เกมส์ สุจิตรา โถตันคำ (นักร้องนำ) เกมส์คนเป็นมีความสามารถ เป็นนักร้องประกวด เป็นคนฟังเพลงและชอบร้องเพลงลูกทุ่ง หลังจากนั้นจึงรู้จักกับ เป้ ณัฐพงษ์ นาพงษ์ เล่นพิณและเป่าแคน
การผสมผสานดนตรีตะวันตกกับเครื่องดนตรีพื้นถิ่นประเทศไทย
พวกเราผสมผสานแนวเพลงสากลดนตรีตะวันตกให้มีกลิ่นอายของความเป็นพื้นถิ่นอีสาน แต่ร้านอาหารหลายแห่งไม่ยอมรับ พวกเขาไม่ให้เราแสดงการเล่นพิณกับเป่าแคนบนเวที พวกเขาไม่เห็นคุณค่าของเครื่องดนตรีพื้นบ้าน แต่เราก็ยังดื้อรั้น เลือกเล่น เลือกร้อง เลือกที่จะเป็นเรา เมื่อเเล่นดนตรีด้วยกันเกือบสองปี เสียงดนตรีของวง “จุลโหฬาร” ก็เริ่มลงตัวจนเป็นที่ยอมรับของผู้ฟังในประเทศไทย
การเล่นดนตรีในร้านอาหาร วงดนตรีจุลโหฬารจะเล่นโดยไม่กำหนดว่าดนตรีจะเป็นแนวใด เล่นตามใจลูกค้า หากลวิธีการเล่นซึ่งไม่ทำให้นักดนตรีและผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่าย บทสรุปคือ “เล่นในแบบที่เราอยากเล่น เล่นเพลงที่ลูกค้าอยากฟัง” จนกลายเป็นความลงตัวแบบวงดนตรีจุลโหฬารอันมีลักษณะดนตรีพื้นบ้านเพราะเราไม่อยากบิดเบือนการเล่นพื้นถิ่น ทั้งการเล่นพิณและเป่าแคน อยากให้ดนตรีของวงดนตรีจุลโหฬารรักษาความเป็นพื้นถิ่นเอาไว้ แต่เราก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลของการเล่นระหว่างแนวดนตรีสากลกับเครื่องดนตรีพื้นบ้าน
วงดนตรีจุลโหฬารเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อเผยแพร่คลิปวีดีโอเพลง “หลงกล” ตอนนั้นเพื่อรุ่นพี่ให้พวกเราลองทำคลิปเพลง เมื่อเผยแพร่คลิปวีดีโอลงยูทู๊ปก็เริ่มมีการแชร์อย่างต่อเนื่อง วงดนตรีจุลโหฬารเริ่มเป็นที่รู้จัก มีคนติดตาม เมื่อเรานำเพลง “หนีห่าง” ของเขียนไขและวานิชมาร้องใหม่ พวกเราก็กลายเป็นวงดนตรีที่หลายคนรู้จัก
หลายครั้งมีค่ายเพลงติดต่อเพื่อขอร่วมงานกับพวกเรา แต่พวกเราก็ยอมรับว่าไม่มีความพร้อม ผลงานเพลงส่วนใหญ่จะมีศิลปินรุ่นพี่เป็นคนติดต่อ ช่วยเหลือและทำเพลงร่วมกัน เช่น วงดนตรี Clash มีผลงานเพลงตัวอย่างให้เราทดลองทำ พวกเราก็ปรับเปลี่ยนดนตรีเพื่อความลงตัว ทำให้ดนตรีน่าสนใจ เมื่อนำงานส่งให้กับรุ่นพี่วง Clash พวกเราก็ได้ผลงานร่วมกันคือเพลง “ในนามแห่งความรัก” สำหรับการร่วมงานกับวงดนตรี Clash สำหรับพวกเราวงดนตรีจุลโหฬารถือเป็นการฝึกงาน เพราะตลอดชีวิตการเป็นดนตรี พวกเราทำงายอย่างอิสระ เราไม่เคยทำงานกับศิลปินนักร้องที่เป็นระบบมาก่อน
การเติบโตของวงดนตรีพื้นถิ่นอีสานร่วมสมัยไทย
ตลอดชีวิตการเป็นนักดนตรี ผมไม่รู้สึกถึงความสำเร็จ รู้สึกเหมือนเดินทางไปฝึกงาน ความคิดของเราขณะทำเพลงให้วงดนตรี Clash เราก็คิดว่าอาจทำให้เพลงของเขาแย่ลงก็ได้ แต่ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้ทำงานกับรุ่นพี่วงดนตรี Clash สำหรับเพลง “อีสานเอ้ย” ก็ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับ เกมส์ สุจิตรา โถตันคำ (นักร้องนำ) เพลงอีสานเอ้ยเป็นโปรเจ็กของ ปรีชา ปัดภัย ต่อมาก็เป็นเพลง “ดวงเดือน” ของ โจอี้ ภูวศิษฐ์ อนันต์พรสิริ ซึ่งจุลโหฬารมีโอกาสได้ร่วมทำงานเพลงด้วย
ผมยังรู้สึกเหมือนเดิมเมื่อต้องเล่นดนตรีในร้านอาหาร ยังรู้สึกภายในตนเองอยู่เสมอว่าจุลโหฬารเป็นวงดนตรีที่ยังไม่มีใครรู้จัก พวกเรามองออกไปในแผนการทำดนตรีของปีหน้า วงดนตรีจุลโหฬารจะทำอัลบั้มของตนเอง ผลงานเพลงจะเป็นแนวไหนคงตอบไม่ได้ แต่ก็พอรู้ว่าเป็นเพลงเกี่ยวกับวิถีชีวิต เป็นเพลงให้กำลังใจ พวกเราทำงานอย่างมีอิสระทำให้เราสามารถเล่าเรื่องอะไรก็ได้ในเพลง โดยไม่ต้องมีใครมาคอยตัดสินว่า ผลงานของเราผ่านหรือไม่ผ่าน บางครั้งเราอาจจะทำเป็นเพลงเพื่อชีวิต แต่เราก็ไม่รู้ว่าเพลงเพื่อชีวิตมันคืออะไร ผมเองก็ยังไม่อยากบอกว่าผลงานเพลงของวงดนตรีจุลโหฬารเป็นเพลงแนวไหน ปล่อยให้คนฟังเป็นคนเลือก เพราะตัวเราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ดนตรีของจุลโหฬารผสมผสานกันออกมาเป็นแบบนี้ได้อย่างไร
ขอบคุณรุ่นพี่หลายคนที่ดูแลเบื้องหลัง เช่น ต่ายอภิรมย์ , พี่อ้น เกิดสุข ชนบุพผา , พี่เบนซ์ พ่อเด็ดดวง พวงรักเร่ , พี่วิชา คณะสุเทพ การบันเทิง และอีกหลายท่านที่คอยสนับสนุนวงดนตรีจุลโหฬารโดยตลอด ทุกคนคือครอบครัวจุลโหฬาร
สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)