สื่อสร้างสรรค์ ? : ศิวกานท์ ปทุมสูติ ทุ่งสักอาศรม


มิใช่สื่อบื้อใสไร้เดียงสา
มิใช่ทาสปรัชญาแห่งสาไถย
มิใช่สื่อกลางกลางไร้ทางไป
แต่กล้าส่องทางชัยให้ผองชน

ถ้าเชื่อมั่นและปรารถนาในสิ่งที่ดีกว่า เราต้องกล้าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวเดิน ยิ่งผู้ที่มีบทบาทในการ “สื่อสาร” ยิ่งจะต้องเลือกสรรวิธีการ “ส่งสาร” ต่อสาธารณะ เพื่อผู้รับสารจะเข้าถึง “สาร” ที่ดีที่สุด การสื่อสารที่ดีของสื่อมวลชนใน “ธง” และ “ทาง” ของการ “สร้างสรรค์” จึงมีนัยสำคัญ ดังนี้

๑. บาทฐานของเจตจำนงในการสื่อสารจะต้องเริ่มจากความบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากมลทินหรืออวิชชาภาวะ ทั้งในจิตใจและพฤติกรรมของการสื่อสาร

๒. ผู้สื่อสารจะต้อง “เล็งเห็นผลของการสร้างสรรค์คุณค่าในการสื่อสารอย่างมีตรรกะที่ตนแจ้งอยู่แก่ใจและอธิบายได้” หากพบว่า “สารนั้น” บกพร่อง ก็ต้องพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข พร้อมยอมรับความจริง แล้วพัฒนาการสื่อสารของตนให้มีคุณค่าต่อสาธารณะยิ่งขึ้น

๓. นัยยะของคำว่า “สร้างสรรค์” ก็คือ สารนั้นจะต้อง “ส่องทาง” ให้ผู้รับสารประจักษ์ใน “สัจจะ” และ “คุณค่า” หรือทางเลือกที่ดีกว่าเสมอ คือ ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีวิจารณญาณและเกิดสติปัญญาเพื่อศานติสุข พูดอีกนัยก็คือ “สร้างเพื่อสร้าง” มิใช่สร้างหรือสื่อเพื่อเสี้ยม!

๔. สื่อสร้างสรรค์ในตรรกะนิยามนี้ อาจจะต้องก้าวข้ามคำว่า “เป็นกลาง” ( ที่ให้โอกาสแก่ความสาไถยและมดเท็จ! ) ไปสู่คำว่า “เป็นธรรม” ที่ยึดโยงกับ “สัจจะ” และ “คุณค่า” ที่เป็นประโยชน์สุขจริงแท้แก่ทุกฝ่าย และพิสูจน์ได้ด้วยผลเชิงประจักษ์ของการสื่อสารนั้นนั่นเอง

แล้ววันนี้เรามี “สื่อมวลชน” ทั้งที่เป็นองค์กรและปัจเจกบุคคลเช่นที่ว่านี้หรือไม่ เพียงไร เราต่างก็รู้ก็เห็นกันอยู่ กระนั้น เราก็ต้องมิละปรารถนา… อย่างน้อยก็ “ในเรา”

สรรค์ = สร้าง ( สร้างสรรค์ = สร้าง – สร้าง / สร้างสรรค์ = สร้างอย่างพระพรหมสร้างโลก )