Categories: Kueaphong Chaidarun

เกื้อพงษ์ ชัยดรุณ : “ย่านหนองระบู” ลมหายใจที่แผ่วเบา

ย่านหนองระบูระบูเป็นชุมชนถิ่นอาศัยของชาวจีนไหหลำอพยพที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองพะเยานับตั้งแต่เส้นทางรถไฟสายเหนือมาถึงจังหวัดลำปางเมื่อพ.ศ. 2459 ส่วนใหญ่ยึดอาชีพปลูกผักและเลี้ยงสุกร ยุคเฟื่องฟูของย่านการค้าแห่งนี้อยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือราวพ.ศ. 2489 เป็นต้นมา เมื่อเริ่มมีกลุ่มทุนชาวจีนไหหลำในจังหวัดลำปางได้เข้ามาทำธุรกิจที่ย่านหนองระบูไปจนถึงย่านหน้าโรงสีเช่น กิจการโรงสี โรงแรม ร้านรับซื้อขายพืชไร่และของป่า โรงฟอกหนัง โรงเรียน และร้านค้าต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เมื่อเศรษฐกิจคึกคักทำให้มีการลงทุนสร้างห้องแถวไม้จำนวนหลายสิบห้องขึ้นมาในย่านหนองระบูเพื่อให้คนเช่า โดยเจ้าของผู้สร้างคือ เถ้าแก่เก็ดต้น แซ่ห่าน

ย่านหนองระบูผ่านกาลเวลามาหลายทศวรรษ กระทั่งเมื่อมีการสร้างศูนย์การค้าย่านตลาดสดพะเยาขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปีพ.ศ. 2506 หลังจากถูกเพลิงไหม้วอดวายไปเมื่อพ.ศ. 2505 ความเจริญด้านเศรษฐกิจจึงย้ายไปอยู่ที่ย่านตลาดสดพะเยาแทน ทำให้ย่านหนองระบูที่เคยคึกคักและคลาคล่ำไปด้วยผู้คนกลับซบเซาเงียบเหงา ร้านค้าต่างๆทยอยปิดตัวลงและกลายเป็นเพียงแค่บ้านพักอาศัย เรือนไม้หลายหลังที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของบ้านย่านหนองระบูค่อยๆถูกรื้อถอนและกลายเป็นตึกแถวเข้ามาแทน เสน่ห์ความเป็นย่านเก่าเมืองเก่าได้หายไปจากความทรงจำของคนพะเยานานแล้วไม่ต่างจากลมหายใจที่ค่อยๆแผ่วเบาลงจนกระทั่งหมดลมหายใจ .

ภาพที่ 1 ร้านศิวาลัย ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์และตัดเย็บเสื้อผ้า เถ้าแก่เก็ดต้น แซ่ห่านเป็นเจ้าของ ในภาพเป็นงานฉลองขึ้นบ้านใหม่ประมาณพ.ศ. 2498

ภาพที่ 2 ห้องแถวไม้ที่ยังหลงเหลืออยู่ ส่วนหนึ่งเป็นร้านขายอาหารเจ

ภาพที่ 3 ร้านเจ้ดัว ร้านขายของชำ เป็นเจ้าของดั้งเดิม สินค้าที่ขึ้นชื่อและขายดีของร้านแห่งนี้คือ แหนม ซึ่งมีรสชาติอร่อยกลมกล่อมและเมี่ยงหวาน ปัจจุบันเมี่ยงได้เลิกทำไปแล้ว

ภาพที่ 4 ห้องแถวไม้ที่ถูกดัดแปลงและปัจจุบันได้เปลี่ยนมือผู้เป็นเจ้าของแล้ว ซึ่งแต่เดิมเป็นของเถ้าแก่เก็ดต้น แซ่ห่าน

ภาพที่ 5 บริเวณสามแยกหนองระบูในปัจจุบัน

ภาพที่ 6 ห้องแถวไม้ในย่านหนองระบูที่ได้รับการอนุรักษ์จากทายาทเจ้าของบ้าน

ภาพที่ 7 ย่านร้านค้าเก่าแก่ในเมืองทาคายามะ ประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการอนุรักษ์และบูรณะขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้ย่านแห่งนี้กลายเป็นจุดขายที่นักท่องเที่ยวมักมาแวะชม ชิม ช๊อป และสร้างรายได้ให้กับชุมชน

Columnist : เกื้อพงษ์ ชัยดรุณ 
facebook. kueaphong.chaidarun 
admin