หนึ่งตำนานมือกีตาร์ที่ยังคงสร้างตำนานอย่างต่อเนื่อง กำลังจะมาเปิดการแสดงคอนเสิร์ต Steve Vai Inviolate Tour Bangkok 2023 ในประเทศไทยวันที่ 28 ตุลาคม 2566 จัดการแสดงที่ MCC Hall ชั้น 4 The Mall Lifestore Ngamwongwan การแสดงครั้งนี้จัดโดยปราชญ์มิวสิค Steve Vai เคยมาทำการแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทยมาแล้วสองครั้ง ครั้งล่าสุดย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้วจัดโดยปราชญ์มิวสิคเช่นเดียวกัน ส่วนครั้งแรกเป็นการแสดงที่ A.U.A. น่าจะราว ๆ ปี พ.ศ. 2540 ปัจจุบันเขาเข้าสู่ช่วงวัยหกสิบกว่าแล้ว การกลับมาทำการแสดงครั้งนี้เป็นโอกาสดีอีกครั้งที่จะได้ชมการแสดงจากมือกีตาร์ระดับตำนานของโลกแห่งดนตรีร็อก ผมสามารถกล่าวได้ว่าผลงานที่ Steve Vai สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นมีความเป็นเอกลักษณ์ ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะเทคนิคกีตาร์ไฟฟ้าหรือบรรเลงกีตาร์อย่างรวดเร็วเท่านั้น หลักการทางทฤษฎีดนตรีถูกนำมาใช้อย่างสร้างสรรค์ (นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมอยากบอกว่าทำไมทฤษฎีดนตรีจึงสำคัญ) การสร้างสรรค์ผลงานโดยเฉพาะดนตรีร็อกปฎิเสธไม่ได้ว่ามักมีบทบาทโดดเด่นจากกีตาร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

โดยส่วนตัวแล้วผมเริ่มรู้จัก Steve Vai จากนิตยสารต่างประเทศบ้างรวมถึงจากภาพยนตร์เรื่อง Crossroads ฉากการดวลกีตาร์ในเรื่องนี้กลายเป็นฉากสำคัญของเหล่ามือกีตาร์ร็อก ผมเริ่มรู้จักมากขึ้นจากนิตยสาร The Quiet Storm ซึ่งส่วนมากเป็นนิตยสารอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวทางดนตรีร็อก ทั้งบทสัมภาษณ์ เนื้อหาทางทฤษฎีดนตรี รูปภาพ ฯลฯ ทุกเดือนผมเฝ้าติดตามนิตยสารนี้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้อ่านบทความแนะนำผลงานศิลปิน ถ้าจำไม่ผิดเป็นการแนะนำผลงานของตำนานมือกีตาร์อีกคนหนึ่งคือ Yngwie Malmsteen บทความบางช่วงมีการกล่าวถึง Steve Vai เชิงเปรียบเทียบด้านการสร้างสรรค์ผลงานที่ต่างกัน เมื่ออ่านบทความนี้จบสิ่งแรกคือต้องหาผลงานมือกีตาร์ทั้งสองคนนี้มาฟังให้ได้ จากนั้นไม่นานผมก็ได้ผลงานเหล่านี้มาฟังผ่านเครื่องเล่นเทป ผมเปิดเพลงฟังซ้ำไปซ้ำมา  

ผลงานชื่อ Passion and Warfare หน้าปก Steve Vai สะพายกีตาร์ Ibanez 7 สาย ทำเอาผมเกิดอาการ Earworm ทั้งวันและมีข้อสงสัยอยากรู้อยู่พอสมควร ทำอย่างไรจึงเกิดเสียงกีตาร์แบบนั้นได้? เขาใช้เทคนิคอะไร? ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง? แต่งเพลงแบบนี้ได้อย่างไร? ผลงานนี้เปิดโลกทัศน์ให้กับผมเป็นอย่างมาก ไม่ได้มีเพียงความรวดเร็วจากการเล่นกีตาร์เท่านั้น ยังเต็มไปด้วยหลักการแนวคิดทางทฤษฎีดนตรี คนที่สร้างสรรค์ผลงานระดับนี้ต้องผ่านการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์มาแล้วเป็นอย่างดี

วันนี้นอกจากชักชวนผู้อ่านไปชมการแสดงคอนเสิร์ตวันที่ 28 ตุลาคม 2566 แล้วก็ถือโอกาสนี้ใช้พื้นที่กล่าวถึงแนวคิดที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อสังเกตแนวคิด Lydian Mode ของ Steve Vai ในเพลง For The Love of God จากผลงานชื่อ Passion and Warfare ที่สอดแทรกไปในเพลงสักเล็กน้อยน่าจะมีประโยชน์และพอชี้ให้ทราบถึงแนวคิดนี้ได้บ้าง (หากมีโอกาสจะกล่าวถึงแนวคิดเรื่อง Mode ในครั้งต่อ ๆ ไป) ก่อนอื่นต้องขอเรียนแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันก่อนว่า แนวทางที่จะกล่าวถึงต่อไปเป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่ผมนำมากล่าวถึงเท่านั้น อาจแตกต่างหรือคล้ายกับการวิเคราะห์ของนักดนตรีคนอื่นขึ้นอยู่กับมุมมอง หลักการและเหตุผลประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อชักจูงให้ผู้อ่านมีความเห็นคล้อยตาม จากประสบการณ์ของผมหลายกรณีสามารถวิเคราะห์ได้มากกว่าหนึ่งมุมมอง ซึ่งหากมีความคิดเห็นต่างออกไปผมคิดว่านั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นการนำเสนอมุมมองหลากหลายยิ่งขึ้น แต่ต้องมีหลักการและเหตุผลประกอบอย่างน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เพื่อให้สะดวกต่อการกล่าวถึงสาระต่าง ๆ จะใช้เครื่องหมายกำหนดจังหวะ (Time Signature) เป็น 4/4 ทั้งหมด

เพื่อเป็นการประหยัดเนื้อที่ผมจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดแนวคิดเกี่ยวกับ Lydian Mode ทางทฤษฎีมากนัก สำหรับบทความนี้จะขอสร้างพื้นฐานความเข้าใจเพื่อเชื่อมโยงกับสาระ Lydian Mode ที่จะกล่าวถึงต่อไปดังนี้ 1) เป็น Mode ประเภท Major 2) มีความสัมพันธ์กับคอร์ดประเภท Major 3) วิธีการหาสมาชิกโน้ตสามารถกระทำได้หลายวิธี เช่น เปรียบเทียบโครงสร้างกับ Major Scale โดยปรับลำดับขั้นที่ 4 สูงขึ้นครึ่งเสียง หากเขียนเป็นลำดับขั้นที่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับ Major Scale จะได้เป็น 1-2-3-#4-5-6-7 (เครื่องหมาย # แสดงถึงปรับระดับเสียงสูงขึ้นครึ่งเสียงจาก Major Scale ไม่ได้หมายความว่าโน้ตตัวนั้นติดเครื่องหมาย #)

ตัวอย่าง F Major Scale = F-G-A-Bb-C-D-E (ลำดับโครงสร้าง 1-2-3-4-5-6-7)

F Lydian Mode = F-G-A-B-C-D-E (ลำดับโครงสร้าง 1-2-3-#4-5-6-7)

จากตัวอย่างข้างต้นสังเกตว่า F Lydian Mode เมื่อเปรียบเทียบกับ F Major Scaleแตกต่างกันตรงลำดับขั้นที่ 4 ตรงโน้ต B นอกนั้นเป็นโน้ตเหมือนกับ F Major Scale ทั้งหมด กล่าวได้ว่าโน้ต B เป็นโน้ตเอกลักษณ์บ่งบอกนัยของ F Lydian Mode (เนื่องจากเป็นโน้ตแตกต่างจาก F Major Scale) จากแนวคิดข้างต้นเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานไปสู่การกล่าวถึงสาระในเพลง For The Love of God ต่อไปครับ

เพลง For The Love of God เป็นเพลงลำดับที่ 7 ในผลงานชื่อ Passion and Warfare  จัดจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2533 มีความยาวประมาณ 6 นาที เป็นการบรรเลง
กีตาร์ไฟฟ้าเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าสาระทางดนตรี ไม่ได้มีความน่าสนใจเฉพาะการบรรเลงกีตาร์ที่มีแนวทำนองอันไพเราะสวยงามเท่านั้น ยังเต็มไปด้วยเทคนิคการบรรเลงขั้นสูง สามารถนำมาศึกษาทั้งด้านการบรรเลงกีตาร์ไฟฟ้าหรือการแต่งเพลง สำหรับผมเองหากกล่าวถึง Steve Vai ก็มักต้องนึกถึงเพลงนี้ควบคู่กันไปด้วย  

ประเด็นที่นำมากล่าวถึงสำหรับบทความนี้คือ Lydian Mode ได้ถูกนำมาสอดแทรกอยู่ ในเพลงโดยเฉพาะบทบาทตรงคอร์ด Fmaj7(#11) แสดงความสัมพันธ์จากแนวคิดข้างต้นที่ได้กล่าว ไว้คือ Lydian Mode เป็น Mode ประเภท Major มีความสัมพันธ์กับคอร์ด Major ซึ่งตรงคอร์ด Fmaj7(#11) หากใครได้ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคอร์ดกับบันไดเสียง (Chord and Scale Relationships) มาบ้างจะพบว่าคอร์ดนี้แฝงไปด้วยนัย Lydian Mode ซึ่งหากแนวทำนองแฝงไปด้วยโน้ตเอกลักษณ์สำคัญของ Mode นี้ด้วยจะส่งผลให้มีความชัดเจนสอดคล้องกันยิ่งขึ้น  

สำหรับคอร์ด Fmaj7(#11) ที่จะกล่าวถึงนั้น อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นคือมีพื้นฐานโครงสร้างจากคอร์ดเมเจอร์ทบเจ็ด (Maj7) แสดงผลลัพธ์โครงสร้างด้วยตัวเลขเปรียบเทียบกับ Major Scale จะได้เป็น 1-3-5-7 หรือ R-3-5-7 (R=โน้ตพื้นต้น (Root)) ส่วนตัวเลขในวงเล็บ (#11) นี้มีความสำคัญอาจแสดงถึงโน้ตที่ต้องการแสดงนัยบางประการ เช่น เป็นโน้ตสนับสนุนแนวทำนอง (อาจเป็นโน้ตตัวเดียวกันกับแนวทำนอง) หรือแสดงถึงนัย Mode เป็นต้น

กรณีคอร์ด Fmaj7(#11) ผมพบได้หลายกรณีที่โครงสร้างคอร์ดนี้ อาจมีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างคอร์ด Fmaj7(b5) เนื่องจากโน้ต #11 หากพิจารณาอีกทิศทางหนึ่งก็คือโน้ต #4 โดยโน้ตนี้ก็อาจพิจารณาอีกทิศทางได้เช่นกันว่าเป็นโน้ต b5 ซึ่งแนวโน้มการพิจารณาว่าควรเป็นทิศทางใดนั้นขึ้นอยู่กับบริบทอื่นประกอบด้วย เช่น องค์ประกอบคอร์ด เป็นต้น แต่สำหรับกรณีคอร์ด Fmaj7(#11) ในเพลง For The Love of God ขอกล่าวถึงดังนี้

หากพิจารณาตัวเลขเปรียบเทียบโครงสร้างคอร์ด Fmaj7(#11) กับ Major Scale จะได้เป็น 1-3-5-7-9-#11 (หรือ R-3-5-7-9-#11) ประกอบด้วยโน้ต F-A-C-E-G-B แต่การวางแนวเสียง (Voicing) ที่ปรากฏในเพลง For The Love of God พบว่าประกอบด้วยโน้ต 5 ตัวคือโน้ต F-A-C-E-B ไม่ปรากฏโน้ตลำดับที่ 9 คือโน้ต G ของคอร์ด (ดูตัวอย่างที่ 1 ประกอบ) อาจกล่าวว่าการวางแนวเสียงนี้มีการตัดองค์ประกอบโน้ตในคอร์ดบางตัวออกไป ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าเพื่อความเหมาะสมกับทิศทางการบรรเลงกีตาร์ไฟฟ้าหรือเหมาะสมกับมิติเสียงที่เกิดขึ้นตามแนวทางของผู้แต่ง

ตัวอย่างที่ 1 ตัวอย่างการวางแนวเสียงคอร์ด Fmaj7(#11) ในเพลง For The Love of God

ความน่าสนใจประเด็นคอร์ด Fmaj7(#11) มีเหตุผล 2 ประการโดยมีความเชื่อมโยงกับคอร์ดและแนวทำนองที่มีความสัมพันธ์กันทำให้ผมพิจารณาในทิศทาง Lydian Mode คือ 1) นัยคอร์ด Fmaj7(#11) ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าคอร์ดนี้แฝงไปด้วยนัยสำคัญคือโน้ต #11   (ในที่นี้คือโน้ต B) โน้ตตัวนี้ทำหน้าที่แสดงถึงโน้ตเอกลักษณ์สำคัญของ F Lydian Mode (สามารถย้อนกลับไปดูสมาชิกโน้ตในตัวอย่าง F Lydian Mode ที่ผ่านมา) และเหตุผลข้อที่ 2) แนวทำนองปรากฏบทบาทจากโน้ตเอกลักษณ์สำคัญ ด้วยเหตุผลเหล่านี้จะถูกนำมาพิจารณาร่วมกัน ผมขอยกตัวอย่างความสัมพันธ์ที่ปรากฏในเพลง For The Love of God ดังนี้

ช่วงเวลา 0.00-1.19 นาทีในเพลงนี้ ผมขอเรียกว่าเป็นช่วงแนวทำนองหลัก A การดำเนินคอร์ดมีจำนวน 32 ห้อง โดยเกิดจากการบรรเลงซ้ำทั้งหมดของการดำเนินคอร์ด Em(add9)-Fmaj7#11-Em(add9)-Am(add9)-Em(add9)-Cmaj7-Fmaj7#11-Em(add9) ซึ่งแต่ละคอร์ดนั้น มีความยาวคอร์ดละ 2 ห้อง รวมทั้งสิ้นจำนวน 16 ห้อง คอร์ดข้างต้นนี้ถูกนำมาบรรเลงซ้ำอีกครั้งหนึ่งช่วงแนวทำนองหลัก A จึงทำให้มีความยาวรวมทั้งสิ้นจำนวน 32 ห้อง พิจารณาภาพรวมของศูนย์กลางเสียงการดำเนินคอร์ดนี้โดยรวมอยู่ในกุญแจเสียง E minor จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงแนวทำนองหลัก B (ช่วงเวลาในเพลงคือ 1.20-1.59 นาที) ต่อไป ผมขอเพิ่มเติมประเด็นการพิจารณาแนวโน้มของศูนย์กลางเสียงในเพลง ไม่ควรพิจารณาจากจำนวนเครื่องหมาย # หรือ b บนกุญแจเสียงที่ปรากฏบนบรรทัดห้าเส้นในเพลงเท่านั้น หลายกรณีต้องพิจารณาร่วมกับบริบทอื่นที่สำคัญด้วย เช่น คอร์ด แนวทำนอง หรือการฟัง เป็นต้น  

ประเด็นที่นำมากล่าวถึงคือกรณีคอร์ด Fmaj7#11 ที่เป็นวัตถุดิบให้กับการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A โดยการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลักนี้จะปรากฏเป็นวัตถุดิบให้กับบทบาทการบรรเลงกีตาร์ไฟฟ้าช่วงหลังจบแนวทำนองหลักด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นวัตถุดิบให้กับบทบาทช่วงแปรทำนองของกีตาร์ไฟฟ้า (หรือเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ อาจเรียกว่าช่วง Guitar Solo หรือ Guitar Improvisation) วัตถุดิบการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A มีความพิเศษตรงคอร์ด Fmaj7#11 หากเป็นคอร์ด Fmaj7 ที่ไม่ได้ประกอบด้วยโน้ต #11 อยู่ในโครงสร้างคอร์ด อาจสามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นการยืมคอร์ดนี้มาจาก E Phrygian Mode (หลักการยืมคอร์ดมาจาก Mode อื่น ๆ ที่สัมพันธ์กันนี้อาจเรียกว่า Modal Interchanges) แต่โน้ต #11 ที่ปรากฏบนการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A นั้นเป็นการบ่งบอกนัยสำคัญบางประการ ผมพิจารณาว่าเป็นการแฝงไปด้วยนัย Lydian Mode จากเหตุผลการสนับสนุนโน้ต B ซึ่งเป็นโน้ตเอกลักษณ์สำคัญของ F Lydian Mode (ย้อนกลับไปดูสมาชิกโน้ต F Lydian Mode และโน้ตเอกลักษณ์สำคัญที่กล่าวถึงไปแล้ว) โน้ตสำคัญนี้ปรากฏบทบาททั้งเป็นโน้ตในคอร์ด Fmaj7#11 และบทบาทบนแนวทำนองโดยเฉพาะตรงคอร์ด Fmaj7#11

ตัวอย่างที่ 2-3 แสดงช่วงแนวทำนองหลัก A ที่ปรากฏบทบาทโน้ต #11 หรือโน้ต B บนแนวทำนองตรงคอร์ด Fmaj7#11 ตัวอย่างที่ 2 เครื่องหมาย * ตรงห้องที่ 3 แสดงถึงโน้ต B สัมพันธ์กับคอร์ดโดยปรากฏบนจังหวะที่ 1 และตัวอย่างที่ 3 กรอบสี่เหลี่ยมห้องที่ 13 แสดงถึงบทบาทการเน้นย้ำโน้ต B เล็กน้อยบนแนวทำนอง กล่าวโดยสรุปคือทั้งคอร์ดและแนวทำนองมีการสนับสนุนโน้ตดังกล่าว ซึ่งโน้ต B นี้ก็เป็นโน้ตเอกลักษณ์ของ F Lydian Mode หากแนวทำนองยังคงเดิมแต่ปรับเปลี่ยนจากคอร์ด Fmaj7#11 เป็นคอร์ด Fmaj7 มุมมองผมก็ยังสนับสนุนแนวคิดทิศทางเช่นนี้ เนื่องจากแนวทำนองมีบทบาทจากโน้ต B ค่อนข้างชัดเจนแม้ว่าจะเป็นคอร์ด Fmaj7 ก็ตาม
(จะชัดเจนมากยิ่งขึ้นถ้าโน้ตสำคัญนี้ปรากฏทั้งคอร์ดและแนวทำนอง)

ตัวอย่างที่ 2 แสดงช่วงแนวทำนองหลัก A ห้องที่ 1-4

ตัวอย่างที่ 3 แสดงช่วงแนวทำนองหลัก A ห้องที่ 11-14

ยังปรากฏทิศทางลักษณะความสัมพันธ์เช่นนี้อีกหลายครั้ง เช่น ช่วงการแปรทำนองตรง คอร์ด Fmaj7(#11) เวลาในเพลงคือนาทีที่ 3.22-3.27 นาที (ช่วงการแปรทำนอง อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นคือเปรียบเสมือนช่วง Guitar Solo หรือ Guitar Improvisation) การดำเนินคอร์ดช่วงนี้เป็นการอาศัยวัตถุดิบจากการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A แนวทำนองการบรรเลงกีตาร์ไฟฟ้า  ช่วงนี้มีประเด็นความน่าสนใจ 2 ประการคือ 1) แนวทำนองปรากฏโน้ตสำคัญของ F Lydian Mode (โน้ตสำคัญคือโน้ต B) แนวทางคล้ายกับตัวอย่างที่ 2-3 โดยโน้ต B นอกจากแสดงบทบาทเป็นโน้ตเอกลักษณ์แล้วยังมีความน่าสนใจด้วยการเป็นโน้ตสูงสุด (Climax Note) ที่มีจุดเด่นจากการถูกบรรเลงซ้ำๆ บนของแนวทำนองที่ปรากฏบนคอร์ด Fmaj7(#11) พิจารณาจากเครื่องหมาย *   ในตัวอย่างที่ 4      

ประการที่ 2) โน้ต B เป็นโน้ตสูงสุดของแนวทำนองถูกสอดแทรกด้วยด้วยลักษณะจังหวะโน้ตเขบ็ตสามชั้น (Thirty-Second Note) ส่งผลให้ปรากฏความหนาแน่นลักษณะจังหวะ (Rhythmic Density) เป็นอย่างมาก สามารถกล่าวได้ว่าแนวทำนองสร้างความน่าสนใจด้วยการเพิ่มความเข้มข้นขึ้นด้วยแนวคิดด้านลักษณะจังหวะ การสอดแทรกโน้ตเขบ็ตสามชั้นเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 3.17-3.56 นาที ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เต็มไปด้วยแนวคิดความหนาแน่นลักษณะจังหวะอย่างชัดเจน

ตัวอย่างที่ 4 แนวทำนองการบรรเลงกีตาร์ไฟฟ้าบนคอร์ด Fmaj7(#11) นาทีที่ 3.22-3.27 นาที

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 4.1-1024x690.png

จากข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวคิดบทความนี้ อาจแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ Lydian Mode ได้บ้างไม่มากก็น้อย ผมขอสรุปประเด็นที่กล่าวถึงในบทความนี้

1) Lydian Mode เป็น Mode ประเภท Major มีความสัมพันธ์กับคอร์ด Major ในที่นี้คือคอร์ด Fmaj7(#11) ทั้งยังทราบถึงโน้ตเอกลักษณ์สำคัญ (ประเด็นนี้ผมกล่าวถึงเฉพาะกรณีคอร์ด Fmaj7(#11) เพียงคอร์ดเดียวเท่านั้น ไม่พิจารณาการดำเนินคอร์ดทั้งหมด)

2) โน้ตเอกลักษณ์สำคัญของ F Lydian Mode คือโน้ต B ได้ปรากฏบทบาทบนแนวทำนอง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากมิติเสียงของคอร์ด Fmaj7(#11) ส่งผลให้มิติเสียงมีความชัดเจนสอดคล้องกันยิ่งขึ้น

3) ช่วงการแปรทำนอง (เปรียบเสมือนช่วง Guitar Solo หรือ Guitar Improvisation) ยังคงพบบทบาทจากโน้ตเอกลักษณ์ของ F Lydian Mode เป็นโน้ตสูงสุดของแนวทำนองถูกบรรเลงซ้ำ ๆ ผสมผสานกับแนวคิดด้านลักษณะจังหวะ กล่าวคือมีความหนาแน่นลักษณะจังหวะจากบทบาทโน้ตเขบ็ตสามชั้น

คอลัมนิสต์ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร