ยามสายของวันที่ 3 มิถุนายน 2566 คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยา จัดเสวนา “ศิลปะการแต่งกวีนิพนธ์และเพลงกับศิลปินแห่งชาติ” หนึ่งในกิจกรรมของการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Workshop หลักสูตรอบรม “ศิลปะการประพันธ์กวีนิพนธ์และเพลงเพื่ออาชีพ” ณ ห้องประชุมคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยมีศิลปินแห่งชาติ ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2559, พิบูลศักดิ์ ละครพล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2560 ,พยัต ภูวิชัย ศิลปินนักแต่งเพลงอิสระ และ รศ.ดร.วรวรรธน์ ศรียาภัย เป็นผู้เนินรายการ

ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2559

ศิลปะการแต่งเพลงต้องมีความรู้สองทาง คือ ความรู้ทางดนตรีและความรู้ทางภาษา การแต่งเพลงไม่ต้องรู้มาก เพราะถ้ารู้มาก เราจะแต่งเพลงด้วยความเหนื่อยยาก ให้ลองจินตนาการถึงการสร้างบ้าน เราเป็นสถาปนิก บ้านหลังนี้ต้องสร้างหลายปี แต่การสร้างผลงานทางศิลปะ ไม่เป็นอย่างนั้น ศิลปะเราใช้สมองหรือหัวใจนำทาง การใช้สมองนำทาง คือ การวางแผนออกแบบ แม้แต่การวาดภาพ ก็จำต้องมีการวางแผน ออกแบบ จัดองค์ประกอบทางศิลปะล่วงหน้า หรือศิลปินบางท่านอาจทำงานศิลปะแบบฉับพลัน การทำงานของศิลปินไม่เหมือนกัน ผมเป็นคนมรรคง่าย เหมือนพุทธศาสนานิกายเซ็น ผมไม่ชอบอ่านพระไตรปิฎก แปลภาษาบาลีหรือนั่งสมาธิ ผมฟังและทำความเข้าใจ เมื่อบรรลุแล้วก็ให้ผ่านพ้นไป

การแต่งเพลงไม่ต้องรู้มาก แต่ต้องรู้สึก ความรู้ทางภาษาไม่ต้องมีมาก มีแค่ไหนก็ใช้แค่นั้น พูดให้ง่ายคือ “เท่าที่เรามี” องค์ประกอบของเพลงมีอยู่ 3 อย่าง คือ คำร้อง ทำนอง จังหวะ

คำร้อง คือ สิ่งที่เราอยากจะบอก อยากบอกอะไรก็บอก ไม่ต้องมีความลึกซึ้ง ไม่ต้องฉลาด

ทำนอง คือ เสียงสูงต่ำที่นำมาเรียงร้อยต่อกันหรือสลับกันไปมา อย่ากังวลถึงทฤษฎีดนตรีหรือตัวโน๊ต โน๊ตเพียงตัวเดียวก็ทำเป็นทำนอง ตัวอย่างเช่น บทสวดทางพุทธศาสนา ใช้โน๊ตเพียงตัวเดียวฟังแล้วรู้สึกขนลุกกันทั้งโบสต์ เราอาจแต่งเพลงโดยใช้โน๊ตเพียงตัวเดียว หรืออาจจะนำโน๊ตตัวอื่นมาเพิ่มเติม ทำนองต้องเป็นไปตามอารมณ์ที่เราอยากจะไป เสียงของคนเรามีเสียงสูงต่ำมากมาย จะกลัวอะไรกับการเขียนทำนอง

จังหวะ คืออะไร จังหวะคือเสียงที่เปล่งออกมาอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ จังหวะคือระเบียบของทำนอง ฉะนั้น ไม่ต้องกังวลกับจังหวะ

จังหวะคือที่พักอาศัยของทำนอง คำร้อง คือสิ่งที่อยากจะบอก บทเพลงอวยพรวันเกิด (Happy Birthday) ก็คือเพลงที่อยากจะบอกว่า ฉันอยากอวยพรวันเกิดคุณ เพลงสำหรับผมคือธรรมชาติ เป็นเรื่องของความรู้สึก

บทเพลงเป็นการสื่อสาร เป็นสิ่งที่เราอยากบอก เราต้องจริงกับสิ่งที่อยากจะบอก เราจะบอกว่าเหงา เราต้องจับเข่าคุยกับความเหงา ถ้าเราจะสื่อสารเรื่องความเหงา เราก็ต้องเข้าใจความเหงาให้ดี ผมแต่งเพลง “แมวเหมียว” เวลาแต่งเพลงความเหงา เราจะถูกความเหงาผลักไสออกไป แต่ถ้าเราจับเข่าคุยกับความเหงา เราจะรู้ว่าความเหงาสวยงาม เราต้องจริงกับความรู้สึก แล้วหาทางออกของชีวิต การสื่อสารของเราจะเป็นทางออกให้กับผู้ฟัง

การแต่งเพลงคือการแต่งจากชีวิต เราแต่งเพลงให้เป็นวรรณศิลป์ แต่งเพลงให้เป็นศิลปะ ถ้าอยากแต่งเพลงให้ดังก็ต้องจับจุดอ่อนของคนฟัง เราแต่งเพลงให้มีมุมมองของชีวิต ให้ผู้ฟังได้ประโยชน์ บทเพลงไม่ใช่เครื่องสนองอัตตาของศิลปิน ศิลปะมีไว้เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ เวลาเราเกิดความทุกข์ ให้ดิ่งจมลงไปกับความทุกข์ แล้วใช้ความทุกข์เป็นครู เมื่อจมดิ่งกับความทุกข์ ศิลปะจะจริง ไม่เสแสร้ง ไม่หลอกลวง สำหรับผม ศิลปะออกมาจากชีวิต

พิบูลศักดิ์ ละครพล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2560

การแต่งเพลง อย่าทำให้เป็นเรื่องยาก บทเพลงอยู่ในตัวคน เพลงอยู่ในธรรมชาติ เช่น เพลงเรือ ขับร้องว่า เชียบ เชียบ ฮ้าไฮ้.. คือเสียงของการงาน ภาษาไทยมีเมโลดี้ มีท่วงทำนองอยู่ในธรรมชาติ เสียงของลมพัดเป็นอย่างไร ถ้อยความในวรรณคดีคือบทเพลง เป็นเสียงจากการเปล่ง เขาถึงใช้ถ้อยคำว่า “ขับลำนำ”  โบราณจะขับเป็นจังหวะกลอน 8 เมื่อขับลำนำสม่ำเสมอ ไม่หาวิธีใหม่ๆ ก็จะซ้ำๆ เมโลดี้ไม่มีความแตกต่าง ยุคสมัยใหม่จึงหาวิธีเปล่งเสียงเรียกร้องความสนใจ เช่นเพลง “ทรงอย่างแบด” เป็นรูปแบบตามกระแสรสนิยม ขอให้เราเปล่งเสียงที่เรารู้สึกออกมาจากใจ

เทคนิคการแต่งเพลงของศิลปินแต่ละท่าน ไม่เหมือนกัน ผมคิดว่า การแต่งเพลงควรมี  “3ร” คือ รู้จัก รู้จริง รู้สึก เราจะทำอย่างไรให้รู้สึก ทำให้รู้สึกตลก ทำให้รู้สึกโกรธ ทำให้รู้สึกเศร้า ความรู้สึกคือตัวละครเอก มิว่าจะเป็นเพลงประเภทไหน แนวใด ต้องทำให้รู้สึกจับใจ เพลงจะดีหรือดังก็ตรงนี้ เศร้าจริงหรือไม่ ขับร้องแล้วน้ำตาไหล วรรณกรรมเศร้า เพลงกินใจ จึงอยู่นาน

เมื่อฟังเสียงตนเองแล้ว อย่าลืมฟังเสียงธรรมชาติ ฟังเสียงชีวิตรอบข้าง เราจะมีเสียงในคลังความรู้สึก บางทีเรารู้สึกด้านเดียว จมอยู่กับความรู้สึกของตนเอง แต่โลกไม่เป็นแบบนั้น ไม่ขาวจัด ไม่ดำจัด ไม่สว่าง ไม่มืด นั่นคือทางสายกลาง ทำให้เรามองเห็นชีวิตหลายมุม มองเห็นชีวิตอย่างรอบด้าน ฟังเสียงของความรู้สึก สะสมไว้ในคลังความรู้สึก เราจะทำงานศิลปะได้ดี ทั้งการเขียนเพลง แต่งบทกวี แต่งนวนินาย หรือบทละคร

พยัต ภูวิชัย ศิลปินนักแต่งเพลงอิสระ

เพลง คือ เนื้อร้อง ทำนอง จังหวะ  ถ้าเปรียบให้เห็นภาพ คำร้อง คือ ผู้โดยสาร ทำนอง คือ พาหนะ จังหวะ คือ เส้นทาง เพลงคือการสื่อสารของอารมณ์ที่ไม่ต้องใช้เท้าเดิน เราร้องเพลงอยู่ในสถานที่แห่งนี้ เราร้องเพลงทางโทรศัพท์สามารถสื่อสารออกไปทั่วโลก หากเราไม่มีท่วงทำนอง ก็ให้คนอื่นสร้างทำนองลงในคำร้องของเรา ถ้อยความคิดจะมีกี่ประโยคก็สามารถมีท่วงทำนองได้ บทเพลงคือครู เราแกะลูกโซโล่กีต้าร์ กลอง ถ้าเราแกะคำร้อง แกะความคิด เราจะเข้าใจด้วยตนเองโดยใช้บทเพลงเป็นครู มิว่าจะเป็นชุดคำ ชุดความคิด ชุดดนตรี มันคือการสื่อสารอารมณ์ที่ถูกส่งออกนอก ถ้าเราอยากเขียนเพลงให้ตนเองฟังหรืออ่าน เราคงไม่ต้องมาเรียนกัน การแต่งเพลงคล้ายกับการสื่อสารทางเดียวแต่ความจริงคือการสื่อสาร 2 ทาง คือ เราคุยกับคนฟัง หรือการสื่อสารกับคนหลายคน

ถ้าเพลงมีลักษณะเป็นก้อน อาจเป็นก้อนความคิด ก้อนอารมณ์ ตัวอย่างเช่น เรานึกถึงบ้าน องค์ประกอบของบ้านมีอะไรบ้าง รั้ว หลังคา หน้าต่าง เพดาน สารพัดที่เชื่อมโยงกัน เราต้องตั้งธงว่า เพลงของเราจะเดินทางไปไหนในความรู้สึก อันไหนไม่สำคัญเราตัดออก เป็นอุปกรณ์ความรู้สึกเราคัดทิ้ง

วิธีสื่อสารของบทเพลงคือ การเขียนน้อยแต่ได้มาก เขียนเพลงด้วยเวลาน้อยแต่ได้เยอะ ผมมีอุปกรณ์คือนักร้องลูกทุ่งเพื่อชีวิต (แช่ม แช่มรัมย์ ) จึงกลายเป็นบทเพลง “กรุณาฟังให้จบ” สำหรับวรรณศิลป์ ไม่จำเป็นจะต้องเพียบพร้อมครบถ้วน ถ้าบทเพลงไม่จับด้วยวรรณศิลป์ ให้บทเพลงนั้น “จับใจ” เป็นบทเพลงที่เข้าใจง่าย ฟังแล้วเกิดความรู้สึก

ผมยกตัวอย่าง ผมนั่งเขียนเพลงให้กับวงกะลาค่ายจินนี่เร็คคอร์ด ผมแก้ไขงานเขียนเพลงหลายวัน เขียนตลอดทั้งคืน ชีวิตผมในยามนั้น ไม่มีอะไรโดดเด่นในชีวิต มีเพียงเพลงกวีฟังยาก เพลงชาวร็อคที่ไม่มีชื่อเสียง ผมทำงาน 3 เดือน มีรายได้จากแกรมมี่ 3,000 บาท มันไม่รอด ผมออกจากบ้านมาตัวคนเดียว ผมนั่งเขียนเพลง ส่วนภรรยาก็กลับจากการทำงานนอนบนโซฟาด้วยเสื้อผ้าชุ่มเหงื่อโทรมๆ ผมหันมามองภรรยาแล้วก็คิดว่า ผมจะเลี้ยงเธอได้อย่างไร ผมตัดสินใจเลิกเขียนเพลงให้กับวงกะลา หลังจากนั้นผมก็พบทางออก บางครั้งบทเพลงก็มาพร้อมกับเนื้อร้องและทำนอง

หลายครั้งที่ชีวิตเจอกับปัญหา ทำให้ใจเธออ่อนล้าลงบ้างไหม ฉันถามด้วยความรัก ถามด้วยความห่วงใย ไม่ได้ดูถูกเธอ… หลังจากผมแต่งเพลงนี้ ผมก็ปลุกภรรยาขึ้นมาฟัง ภรรยาของผมห้ามไม่ให้ขายเพลงนี้กับใคร แต่เมื่อผ่านเวลาประมาณหนึ่งปี พวกเราก็ทนความจนไม่ไหว ผมจึงบอกกับภรรยาของผมว่า ผมให้พลพลร้องเพลงนี้เพราะเสียงของเขาเหมาะ แล้วบทเพลง “ยังยิ้มได้” ก็กลายเป็นบทเพลงพลิกชีวิตเพราะตอนนั้นผมทำงานเป็นฟรีแลนด์ค่ายจีนี่ เรคคอร์ด งานเขียนเพลงผ่านก็ได้เงิน งานเขียนเพลงไม่ผ่านก็ต้องเขียน ผมยกตัวอย่างบทเพลง “ยังยิ้มได้” เพราะขณะเขียนเพลง ผมไม่ได้ใช้วรรณศิลป์ นอกจากความไพเราะของความคิด พูดให้เข้าใจง่ายคือ “จับใจ” 

ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)