“วิฑูรย์ ใจพรหม” คือ นักร้องนักแต่งเพลงภาษาคำเมืองล้านนา ประเทศไทย เขาประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้องและนักแต่งเพลงตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกชื่อ “ท้าพิสูจน์” บทเพลง “น้ำเปลี่ยนนิสัย” ที่เขาเป็นผู้ประพันธ์เป็นบทเพลงโด่งดังแห่งยุคสมัยของคนภาคเหนือ หลังจากนั้นจึงมีผลงานเพลงสู่ผู้ฟังติดต่อกันจำนวนกว่า 19 อัลบั้ม นับเป็นผลงานเพลงมากกว่า 400 เพลง อะไรเป็นแรงบันดาลใจหรือเงื่อนไขให้ วิฑูรย์ ใจพรหม ประสบความสำเร็จและอยู่ในวงการเพลงภาษาคำเมืองยาวนานกว่า 30 ปี หน้าตาหล่อเหลาเจ้าชู้กรุ้มกริ่ม ความสามารถด้านการขับร้องและประพันธ์เพลง หรือวิธีการเล่าเรื่องวิถีชีวิตด้วยภาษาคำเมืองล้านนาที่ปนด้วยความตลกขบขัน

บทเพลงแห่งความจริงจากพื้นถิ่นล้านนา

บ้านเกิดผมอยู่จังหวัดลำพูน ครอบครัวพ่อแม่ประกอบอาชีพทำไร่ทำสวน ตัวผมย้ายถิ่นฐานเร่ร่อนทำมาหากินไปในสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ยังเด็ก มองเห็นวิถีชีวิตคนภาคเหนือ รับฟังเรื่องเล่าในสังคม นิทานปรัมปรา สภาพแวดล้อมแบบคนเมือเหนือล้านนา หล่อหลอมให้ผมนำสิ่งรอบตัวมาเล่าเป็นเพลงร่วมสมัยในเวลาต่อมา

ผมชอบร้องเพลงตั้งแต่เด็ก เมื่อเริ่มเป็นหนุ่มก็ประกวดร้องเพลงตามงานวัด เวทีการประกวดร้องเพลงเวทีใหญ่ในบ้านเรายุคสมัยนั้นยังไม่มี แต่ในเวทีงานวัดผมได้รับรางวัลอยู่เสมอในการประกวด ของรางวัลก็เช่น สบู่ แป้ง ยาสีฟัน นั่นเป็นวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวภาคเหนือในยุคสมัยก่อน ผมเริ่มเข้าวงการบันเทิง ทำงานเป็นนักร้องเพราะเป็นคนสนุกสนาน ทำงานเป็นกองเชียร์รำวงชาวบ้าน คือเวลามีงานบุญผ้าป่าจากกรุงเทพฯ ก็จะมีสาวรำวงส่วนผมทำหน้าที่เป็นคนเชียร์ เมื่ออายุครบ 15 ปี ผมทำงานเป็นนักร้องห้องอาหาร เมื่ออายุครบ 20 ปี สมัครทำงานเป็นนักร้องวงดนตรีคณะรุกขชาติ จังหวัดเชียงราย

ผมเป็นนักร้องห้องอาหาร ตามผับ ตามบาร์ ร้องเพลงได้ทุกแนว ทั้ง ลูกทุ่ง สตริง เพื่อชีวิต ครึ่งชีวิตใช้กับการร้องเพลงในแต่ละวันคืน จนวันหนึ่งตอนผมทำงานเป็นนักร้องห้องอาหาร คุณขวัญใจ สุริยัน (ประสิทธิ์ จินาจันทร์) นักจัดรายการวิทยุและนักแต่งเพลงคำเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ แนะนำให้ผมรู้จักกับป๋าสีนวล นพพล หลังจากนั้นจึงเริ่มทำผลงานเพลงคำเมืองชุดแรกชื่อ “ท้าพิสูจน์” ผมแต่งเพลงแรกคือ “น้ำเปลี่ยนนิสัย” หลังจากนั้นจึงทำงานเพลงออกมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีผลงานเพลงคำเมือง 19 ชุด นอกจากนั้นก็มีอัลบั้มพิเศษอีกจำนวนหลายชุด รวมบทเพลงภาษาคำเมืองล้านนาทั้งหมดมากกว่า 400 เพลง   

เปลี่ยนแปลงวงการเพลงด้วยภาษาคำเมืองล้านนา

ยุคสมัยก่อนคนฟังไม่เห็นคุณค่าของเพลงภาษาคำเมือง หรือบทเพลงที่ร้องด้วยภาษาของคนภาคเหนือของประเทศไทย การทำเพลงภาษาคำเมืองจึงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับความนิยมในวงกว้าง เราพยายามนำเสนอบทเพลงคำเมืองจากเรื่องราววิถีชีวิตของคนภาคเหนือเพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วม เมื่อนำเรื่องราว เรื่องเล่า ตำนาน ล้านนา มาแต่งเป็นบทเพลง เราก็ต้องหาวิธีนำเสนอภาษาคำเมืองให้อยู่ในบทเพลงเพื่อให้เป็นที่นิยมในสังคมของคนล้านนา กรรมวิธีการผลิตผลงานเพลงคำเมืองค่อนข้างยุ่งยาก เริ่มจากการหาเรื่องราวมาเขียนเป็นเพลง คัดกรอง ปรับเปลี่ยนแก้ไข ทำให้ผลงานเพลงชุดแรก “ท้าพิสูจน์” ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เริ่มหันมาฟังเพลงภาษาคำเมืองล้านนามากขึ้น

สิ่งสำคัญอันเป็นหัวใจของการทำเพลงภาษาคำเมืองคือ อนุรักษ์ รณรงค์ ส่งเสริม ภาษาคำเมืองล้านนา ด้วยการหยิบเอาเรื่องราวในสังคมมาเล่าในเพลง เช่นเรื่องราวของ ผัวขี้เหล้า เมียเล่นการพนัน เมียขี้บ่น เรานำเสนอผลงานเพลงด้วยการสร้างตัวละคร (Character) สร้างบทสนทนาสอดแทรกความตลกขบขันแต่ให้แง่คิด หรืออาจเป็นบทเพลงตลกแบบวิชาการให้ความรู้  ลักษณะการทำเพลงแบบนี้ทำให้บทเพลงภาษาคำเมืองของภาคเหนือเป็นที่รู้จักถึงคนภาคกลาง ตัวอย่างเช่น เพลงข้าวใหม่ปลามัน เพลงเมียถามมือถือ เพลงลูกกวนตัวผัวกวนใจ 

เทรนด์เพลงภาษาคำเมืองในอนาคต

การนำเสนอบทเพลงของนักร้องแต่ละคน แตกต่างแล้วแต่มุมมอง สำหรับผมการนำเสนอบทเพลงภาษาคำเมืองต้องมองกระแสสังคม ยุคสมัยก่อนเป็นยุคผูกขาด ผู้คนฟังเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง เปลี่ยนมาเป็นยุคเพลงลูกทุ่ง เพลงสตริง ช่วงหลังเพลงภาษาคำเมืองก็ถูกสอดแทรก ในปัจจุบันภาษาคำเมืองล้านนาถูกนำเสนอผ่านดนตรีแร็พ (Rap) เพราะการนำเสนอเพลงภาษาคำเมืองต้องตามกระแส ทำไมคนสมัยก่อนเขาฟังเพลงแบบนั้น คนยุคสมัยนี้ฟังเพลงแบบไหน เราต้องมีภาษาคำเมืองสอดแทรกไว้ในเพลงตามแต่ความชอบ นักร้องบางคนเน้นนำเสนอภาษาให้สนุกสนาน บางคนใช้ภาษาอันไพเราะมีความหวานในงานเพลง ตัวอย่างผมก็เคยทำเพลงแร็พ เช่น เพลงคนยอง เพลงประเทศกูก็มี เพลงเขียดจี่ เพลงเห็ดถอบ 

เมื่อมีผลงานเป็นอัลบั้ม สิ่งสำคัญคือการสร้างความบนเทิงบนเวทีการแสดง (Entertain) การทำงานบันเทิงเราไม่ได้เป็นนักร้องเพียงอย่างเดียว เราต้องแสดงบทบาทบนเวที เราต้องหาเรื่องราวมาเล่า เราต้องศึกษา ต้องดู ต้องอ่าน เวลาไปงานวัดเจอคำกลอนก็จดเอาไว้ เจอคำคมทาง Facbook ก็จดเอาไว้ การนำเสนอผลงานเพลงบนเวทีเราต้องสร้างเรื่องราวใหม่ ต้องค้นหาเรื่องราวใหม่ เพื่อนำมาสร้างความบันเทิงให้คนดู เวลาอยู่หน้าเวทีคนพูดอะไรเราสามารถนำมาเป็นเรื่องราวมุขตลก พูดเล่น แซวคนดู ทำให้คนดูมีส่วนร่วมในการแสดง แต่อย่าทำให้คนดูเสียหาย มุ่งให้เกิดความสนุกสนานบนเวที

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการนำเสนอบทเพลงภาษาคำเมืองอยู่ตลอดเวลา ยุคสมัยนี้คงเป็นยุคของปู่จ๋าน ลองไมค์ ที่ใช้ความเป็น Rapper สร้างความร่วมสมัยในผลงานเพลงภาษาคำเมือง ก่อให้เกิดความหมายของคำในเพลงที่ดี เป็นเพลงแร็พที่จริง แรง มีความเป็นเพื่อชีวิต สิ่งสำคัญคือการประยุกต์ให้เกิดความร่วมสมัยในงานเพลง

งานเพลงแร็พของผมทำไว้คือ เพลงเห็ดถอบ ผมนำทำนองเพลงซอมาทำเป็นแร็พ เรียกว่าแร็พทำนองซอ กระบวนการทำผลงานเพลงมีหลายขั้นตอน เริ่มจากปรึกษาค้นหาเรื่องราว คัดกรองเลือกบทเพลง เมื่อทำเพลงเสร็จเป็นอัลบั้ม ก็ต้องนำเสนอเรื่องราวด้วยมุขตลกขบขันเพื่อใช้ในการแสดงสด บนเวทีการแสดงเราต้องสร้างตัวละครใหม่ เรื่องราวใหม่ เอาความจริงในชีวิตมาเล่าเป็นเพลงภาษาคำเมืองด้วยมุมมองตลกขบขัน แต่สิ่งสำคัญคือต้อง อนุรักษ์ รณรงค์ ส่งเสริม ภาษาคำเมืองล้านนา ใช่ว่าเพียงตลกขบขันเพียงอย่างเดียว

สัมภาษณ์ กระจอกชัย