“ฟาร์มเห็ดสุขใจ” เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านการเกษตร มีพัฒนาการทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดดในห้วงเวลา 6 ปี จากฟาร์มเพาะเห็ดปรับ Positioning สู่การเป็นโรงงานแปรรูปสินค้า OTOP เชื่อมต่อและพัฒนาฟาร์มเห็ดให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ Homestay ปัจจุบันสินค้าจากฟาร์มเห็ดสุขใจมีมาตรฐานได้รับการคัดสรรจาก “ร้านภูฟ้า” อันจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในโครงการ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเอื้ออังกูร สุขใจ เจ้าของฟาร์มเห็ดสุขใจ เล่าถึงการปรับเปลี่ยน Positioning ทำให้ฟาร์มเห็ดอันเงียบเหงาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรที่สำคัญของ อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา

ก่อนฟาร์มเห็ดจะสุขใจ

12 ปีก่อน “เอื้ออังกูร สุขใจ” เริ่มต้นชีวิตการทำงานกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลระนอง บ้านเกิดของสามี หลังจากนั้น ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่กองการศึกษาเทศบาลตำบลปากน้ำ จังหวัดระนอง เมื่อตัดสินใจแยกทางกัน จึงเดินทางกลับบ้านเกิดที่อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เหลือเงินเก็บก้อนหนึ่งพร้อมกับวุฒิการศึกษาชั้น ปวช.บัญชี จึงตัดสินใจประกอบอาชีพเพาะเห็ดขายบนที่ดินบ้านเกิดเนื้อที่ 3 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากยาย

ชีวิตของเราขาดโอกาส จบจากการศึกษานอกโรงเรียนแทนที่จะเป็นโรงเรียนภูซางวิทยาคมเพราะไม่มีทุนการศึกษา ครอบครัวมีปัญหาพ่อแม่อย่าร้าง พอเรียนจบตั้งใจเรียนต่อวิทยาลัยอาชีวะศึกษาพานิชยการเชียงรายก็ไม่มีทุนการศึกษา จึงหาทุนเรียนเองจนจบชั้น ปวช. บัญชี วิทยาลัยเทคโนโลยีศรีธนาพานิชยการเชียงใหม่ 

หลังแยกทางกับสามีกลับมาอยู่อำเภอภูซางบ้านเกิด ไม่รู้จะทำอย่างไร มองเห็นโครงการในพระราชดำริอยู่ตลอดเวลาจนติดตา ก็คิดว่า งานน่าจะเบากว่าทำสวนยางพาราซึ่งเป็นงานหนัก ตอนนั้นมีสวนผลไม้อยู่ 3 ไร่ ปลูกผลไม้หลายชนิด เช่น มะม่วง ชมพู่ กระท้อน จึงตัดสินใจซื้อก้อนเห็ดมาเพาะเลี้ยงอยู่ 2 รุ่น ใช้เวลา 8 เดือน หมดเงิน หมดแรง หมดทุน เพราะไม่มีความรู้ด้านการเกษตร เราเลี้ยงเห็ดหมื่นก้อนแต่มีแรงงานน้อยคน การดูแลเห็ดจึงไม่ทั่วถึง

ยายหัวเห็ดคนภูซาง

ตอนกลับมาอยู่บ้านนานเกือบปี เริ่มเรียนรู้เรื่องเวลา ฤดูกาล กาลใดปลูกเห็ดแล้วได้ผลดี ส่วนการตลาดยังมีปัญหา พ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อเห็ดหน้าฟาร์ม หลายแห่งพ่อค้าซื้อเห็นราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก ราคาขายเห็ดในท้องตลาดกิโลกรัมละ 60 บาท พ่อค้ารับซื้อกิโลกรัมละ 30 บาท ฟาร์มเห็ดสุขใจปรับเปลี่ยนเป็นเพาะเห็ดปลอดสารเคมี เห็ดอินทรีย์ ต้องเพาะปลูกในจำนวนที่เหมาะสม ต้องลดปริมาณการเพาะลงเรื่อยๆ 

ไม่นานนักหลายคนก็ชักชวนให้ผลิตสินค้า OTOP แปรรูปเห็ดให้กลายเป็นสินค้า แล้วเริ่มทำการตลาดให้มากขึ้น ไม่ต้องสิ้นเปลืองกับการขนส่งแต่เลือกที่จะขายปลีก เช่น ช่วงวันพุธมีตลาดผักผลไม้ปลอดสารพิษที่โรงพยาบาลเชียงคำ พอทำการตลาดเราก็จะพบเพื่อน มีเครือข่ายสินค้าการเกษตร มีลูกค้าประจำและเริ่มทำการตลาดแบบออนไลน์

หลายคนแนะนำให้แปรรูปเห็ดเพิ่มเติม เราก็เปิด youtube ศึกษาและแปรรูปสินค้า พ.ศ.2560 หน่วยงานของรัฐส่งเสริมให้ธุรกิจสู่การเป็นธุรกิจท่องเที่ยว เราร่วมโครงการทำฟาร์มเห็ดสุขใจให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พ.ศ.2561 เป็นช่วง OTOP นวัตวิถี ชุมชนท่องเที่ยว OTOP ฟาร์มเห็ดสุขใจปรับธุรกิจตามการส่งเสริมของภาครัฐกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ Homestay  และสร้างหน้าร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าแปรรูปจากเห็ด

ฟาร์มเห็ดสุขใจมีสินค้า เช่น แหนมเห็ด, เห็ดสวรรค์ ,น้ำพริกเห็ด ขณะนี้อุตสาหกรรมจังหวัดพะเยาจะเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมการทำข้าวเกรียบเห็ด ส่วนสาธารณสุขก็จะข้ามาดูแลเรื่อง อ.ย. อีกไม่นานนักจะมีสินค้าประเภทเห็ดหูหนูแห้งและเห็ดหลินจือวางจำหน่ายเพิ่มเติม

สุขใจในฟาร์มเห็ดบ้านเกิด  

หลายคนย้ายถิ่นฐานจากเมืองกรุงฯ พวกเขาอยากทำเกษตรอินทรีย์ ใช้ชีวิตแบบสันโดษ ใช้ชีวิตต่างคนต่างอยู่ แต่บ้านเราสังคมเป็นอีกแบบ เรามีเพื่อนมีเครือญาติ นั่นจะทำให้เราเติบโต สำหรับบทเรียนจากการทำฟาร์มเห็ดคงเป็นเรื่องแรงงาน แรงงานมีไม่เพียงพอเพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนวิถีชาวบ้าน พวกเขามีงานหลัก ทำนา ทำสวนยาง เมื่อถึงฤดูกาลทำนาพวกเขาทำนา ถึงเวลาทำสวนยางพาราพวกเขากรีดยาง ถึงเวลามีงานสำคัญในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะหยุดเพื่อร่วมงาน เราต้องวางแผนเรื่องแรงงานให้ดี หลายคนบอกว่า ทำธุรกิจต้องดูปลายทางคือ “การตลาด” แต่สุดท้ายธุรกิจก็มาจนมุมกับ “แรงงาน”

ด้านการจัดจำหน่าย สินค้าแปรรูปจากฟาร์มเห็ดสุขใจวางจำหน่ายที่ ร้านภูฟ้า ,ร้านสุขใจชอป, ร้านน้ำเงี้ยวไฮโซของฝากพะเยา, ยอดขายสินค้าแปรรูปมาจากหน้าร้านฟาร์มเห็ดสุขใจ ช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจฟาร์มเห็ดเติบโตขึ้น มีรายรับมากขึ้นแต่ก็มีรายจ่ายมากขึ้นเป็นลำดับ ถือเป็นการก้าวกระโดดดังนั้นพวกเราต้องกลับไปสร้างฐาน เพาะเห็ดให้ดี แปรรูปสินค้าให้มีคุณภาพ ตามความต้องการลูกค้า ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ

เป้าหมายของฟาร์มเห็ดสุขใจคือทำให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างร้านอาหารจากธรรมชาติปลอดสารเคมี เรามีบทเรียนทางการตลาดอยู่ว่า อยู่นิ่งไม่ได้ นิ่งแล้วล้าหลัง การตลาดต้องอิงกระแส เช่น เรื่องเกษตรอินทรีย์ ออแกนิค ต้องปรับธุรกิจตาม เชื่อมต่อกับข่าวสารอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้ลูกค้าจดจำเราได้ เหมือนตอนนี้หลายคนจำเราได้แล้วว่า เอื้ออังกูร สุขใจ คือ “ยายหัวเห็ด”

เรื่อง  ร.ต.อ.ทรงวฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)