นายธนน อินต๊ะป้อ เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า มีประสบการณ์ประกอบธุรกิจทำน้ำหมักชีวภาพจำหน่ายที่กรุงเทพฯ หลังจากน้าสาวซึ่งเป็นหุ้นส่วนธุรกิจล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง เขาเดินทางกลับพะเยาลงหลักปักฐานทำเกษตรอินทรีย์ สร้างธุรกิจด้วยความแตกต่าง สร้างแบรนด์สินค้าให้กับหน่อไม้ จนหน่อไม้ “ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง” ภายใต้แบรนด์ “ธนน” เติบโตต่อยอดเป็นธุรกิจร้านอาหารชื่อ “กระทรวงการ ย่าง” มีเมนูอาหารทำจากหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งเป็นเมนูดึงดูดลูกค้า (Signature) มีพืชผักผลไม้อินทรีย์อันมีมาตรฐานรับรองจาก SDGsPGS จากสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา เป็นเมนูรอง สร้างความรื่นรมย์ให้กับการรับประทานของลูกค้า
เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเพาะพันธุ์ต้นไผ่
สมัยก่อน ผมทำงานอยู่กับน้าสาวชื่อปรัชญาณีย์ โลหะสวัสดิ์ ที่กรุงเทพฯ พวกเราทำน้ำหมักชีวภาพแบรนด์ “นวกุล” หลังจากนั้นเธอล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ ผมจึงหันเหชีวิตกลับคืนสู่บ้านเกิดที่จังหวัดพะเยา เรามีน้ำหมักชีวภาพเป็นต้นทุนทำการเกษตรจำนวนหนึ่ง ผมมีที่ดินจำนวน 5 ไร่ ให้คนเช่าทำไร่ข้าวโพด ผมเริ่มวางแผนทำการเกษตรโดยศึกษาจาก Youtube เริ่มปลูกต้นมะพร้าวจำนวนกว่า 100 ต้น แต่ก็ประสบภัยแล้งจนต้นมะพร้าวที่ปลูกไว้ทั้งหมดตายเรียบ ผมเริ่มศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์ ค้นหาพันธุ์พืชที่ทนภัยแล้ง เมื่อเติบโตสามารถนำมาทำการตลาดเป็นสินค้าได้ บทสรุปผมเลือก “ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง”
ผมปลูกพืชบนที่ดิน 5 ไร่ โดยไม่ใช้สารเคมีเป็นเวลากว่า 3 ปี ต้นไผ่บงหวานเริ่มเติบโต ระหว่างนั้นผมศึกษาค้นคว้าเรื่องดินร่วมกับ ผศ.ดร.วาสนา วิรุญรัตน์ คณะปฐพีศาสตร์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยเก็บตัวอย่างดินนำมาศึกษาวิจัยอย่างสม่ำเสมอ ผมเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา ศึกษาวิจัยเรื่องเกษตรอินทรีย์ร่วมกับ ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ, ผศ.ดร.วาสนา พิทักษ์พล , ผศ.ดร.บังอร สวัสดิ์สุข คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา
เมื่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งเริ่มออกหน่อ ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งจากสวนไผ่ก็ได้รับตรารับรองคุณภาพ SDGsPGS จากสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยาและได้รับตรารับรอง GAP หรือ Good Agriculture Practices จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมศึกษาหาความรู้ต่อเนื่องด้วยการเข้าร่วมอบรม Young Smart Farmer (YSF) ศึกษาดูงานที่ morning farm ได้แนวคิดการทำเกษตรสมัยใหม่จาก ผศ.วิสูตร อาสนวิจิตร ผมจึงมั่นใจว่าเราสามารถสร้างธุรกิจจากการสร้างแบรนด์ไผ่ได้
สร้างชื่อ “ธนน” เป็นแบรนด์สินค้า
ผมเริ่มสร้างแบรนด์สินค้า เพราะแบรนด์คือสิ่งสำคัญสำหรับการขาย ผมเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์มีความจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์สินค้า เพื่อให้กลุ่มผู้บริโภครับรู้ว่าสินค้าของเราคือสินค้าเกษตรอินทรีย์ ผมพยายามนำเสนอคุณสมบัติและเรื่องราวของหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง คิดถึงอัตลักษณ์ของแบรนด์ สุดท้ายผมเลือกใช้ชื่อ “ธนน” อันเป็นชื่อของผมเพื่อสร้างแบรนด์
สำหรับผม พื้นฐานการประชาสัมพันธ์เราต้องสื่อสาร ต้องกล้าพูด กล้าทำ เพื่อให้คนอื่นรู้และเข้าใจว่าเรากำลังคิดอะไร ทำอะไร ปลูกอะไร สินค้าของผมเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วเพราะความแปลกใหม่ เรานำเสนอความแตกต่างอย่างมีคุณค่า นำเสนอหน่อไม้ที่สามารถรับประทานดิบได้ รับประทานแล้วไม่เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย เช่น อาการปวดหัวเข่า เราสามารถนำหน่อไผ่บงหวานประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เมื่อเริ่มต้นขายสินค้าผมกำหนดกลยุทธ์การขายหน่อไม้ ป้องกันการแข่งขันด้านราคา ป้องกันการตีตลาด สร้างแนวคิดธุรกิจและการขายสินค้าที่โดดเด่น
ยามเริ่มต้นทำการตลาด ผมนำหน่อไม้จำนวนหลายกิโลกรัมแจกในตลาด วันรุ่งขึ้นผมรับออรเดอร์สั่งจองหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง สินค้าของผมเป็นที่รู้จักเพราะการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก ไม่นานนักสวนไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง “ธนน” ก็มีคนเข้ามาเยี่ยมเยือนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอแม่ใจ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้สื่อข่าวที่เข้ามาเยี่ยมเยือนเพื่อทำบทสัมภาษณ์เผยแพร่ในรายการโทรทัศน์
เปิด “กระทรวงการย่าง” ต่อยอดธุรกิจ
การเป็นสมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา มีข้อดีคือมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำแนะนำ ทำให้แบรนด์ “ธนน” หน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งเป็นที่รู้จัก ผมต่อยอดธุรกิจสร้างแบรนด์ “ธนน” ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าให้กับหน่อไผ่บงหวาน ผมเปิดร้านอาหารชื่อ “กระทรวงการย่าง” บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา พิกัด 19.0742528,100.8074752 ทำอาหารเมนูหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งเป็นเมนูดึงดูดลูกค้า (Signature) สร้างจุดเด่นให้ “กระทรวงการย่าง” เป็นความรื่นรมย์แห่งการรับประทาน ด้วยวัตถุดิบอะไรก็ได้ซึ่งสามารถนำมาย่างบนเตาให้เกิดเป็นความอร่อย ประเด็นสำคัญคือวัตถุดิบต้องปลอดภัย พืชผักผลไม้ที่ใช้เป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ มีตรารับรองมาตรฐานความปลอดภัย ลูกค้าหลายคนมักซื้อหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง “ธนน” ติดมือกลับบ้านเพื่อประกอบเมนูอาหาร
ยอดขายหน่อไผ่บงหวานภายใต้แบรนด์ “ธนน” มียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 10,000 – 20,000 บาท หน่อไผ่แบรนด์ “ธนน” จะมียอดจำหน่ายสูงในช่วงเดือนเมษายนเดือนละ 30,000 บาท ส่วนต้นไผ่กล้าพันธุ์ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง จะมีการสั่งซื้อช่วงก่อนฤดูฝนเฉลี่ย 50,000 – 60,000 บาท รวมรายรับหักค่าใช้จ่ายจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 100,000 บาท ถือเป็นรายได้พอเลี้ยงชีพในช่วงสถานการณ์โควิด
สำหรับแผนการในอนาคต ผมเริ่มเพาะกล้าพันธุ์หน่อไม้ชนิดอื่นเพื่อนำเสนอเป็นสินค้าตัวใหม่ ขยายช่องทางการตลาดโดยศึกษาวิจัยร่วมกับ อาจารย์ ดร.ปิยะพงษ์ สุปัญโญ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งออกหน่อไผ่หวานสู่ตลาดยุโรป นอกจากนั้น ผมยังศึกษาธุรกิจกาแฟเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาชมสวนไผ่บงหวานเพื่อประชาสัมพันธ์แบรนด์สินค้า “ธนน”
เรื่อง ร.ต.อ.ทรงวฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) เรียบเรียง ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ