Overdrive คือท่วงทำนองชีวิตของผู้คนในโลกแห่งดนตรี ปราชญ์ อรุณรังษี ( Prart Aroonrungsi ) คือหนึ่งตัวโน๊ตที่ถูกบรรเลงในท่วงทำนองธุรกิจ การทำงานในสิ่งที่ตนรักชอบเป็นเรื่องหลัก มองการธุรกิจเป็นเรื่องรอง อาจมิถูกต้องนักตามขนบแบบแผนทางธุรกิจ แต่ความลงตัวด้านการทำงานของ ปราชญ์ อรุณรังษี ส่งผลให้ Overdrive นิตยสารแจกฟรีจำนวน 8 หน้า เติบโตแตกแขนงเป็นนิตยสาร Com Music นิตยสาร Rhythm Section โครงสร้างธุรกิจอันเคยมีเพียงสื่อสิ่งพิมพ์ เติบโตเป็นสถาบันให้ความรู้ทางดนตรี เป็นบริษัทจัดกิจกรรมเวิร์คชอปดนตรี (Overdrive Music-Workshop) เป็นผู้จัดงานประกวดการเล่นกีต้าร์แห่งประเทศไทย (Overdrive Guitar Contest) เป็นผู้จัดคอนเสิร์ตศิลปินระดับโลก (International Concert ) ปราชญ์ อรุณรังษี เล่าว่า สิ่งหล่านี้คือวงจรดนตรีของ ลอสแอนเจลิส มหานครแห่งดนตรีของสหรัฐอเมริกา ต้นแบบการเล่นกีตาร์อเมริกันสไตล์ ซึ่งถูกนำเสนอในประเทศไทยอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น โดย ปราชญ์ อรุณรังษี
อิทธิพลทางดนตรีจากสหรัฐอเมริกา
ผมเติบโตจากครอบครัวนักดนตรี พ่อของผมเป็นหัวหน้าวงดนตรี แม่ของผมเป็นนักร้อง ญาติพี่น้องเล่นดนตรีอาชีพ ตอนผมยังเป็นเด็ก เป็นยุคสงครามเวียดนาม คุณพ่อกับคุณแม่เล่นดนตรีในแค้มป์ G.I. อำเภอตาคลี จังหวัดโคราช ส่วนผมอาศัยอยู่กับคุณป้าในบ้านที่กรุงเทพฯ หลังสงครามคุณพ่อกับคุณแม่กลับมาเล่นดนตรีในกรุงเทพฯ ผมเฝ้ามองและฟังเสียงคุณพ่อแกะโน๊ตเพลงของศิลปิน The Carpenters หรือ Deep Purple ช่วงปิดเทอมผมเดินทางไปหาคุณพ่อกับคุณแม่ซึ่งเล่นดนตรีอยู่ที่ภูเก็ต ผมมักอยู่ในห้องนอนในโรงแรมที่ท่านเล่นดนตรี กดออร์แกนเล่นอยู่คนเดียว คุณพ่อเห็นว่าผมสนใจดนตรีจึงเริ่มสอนตัวโน๊ต เมโลดี้ และคอร์ดคีย์บอร์ดขั้นพื้นฐาน
ตัวโน๊ตไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผม เพราะผมคุ้นเคยกับการอ่านการเขียนตัวโน๊ต (Recorder) ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา เมื่ออายุ 12 ผมเริ่มหัดเล่นกีต้าร์ อายุ 13 เรียนกีตาร์คลาสสิคอย่างจริงจัง เรียนโรงเรียนดนตรีสยามกลกาล โรงเรียนดนตรีศุภการ เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์วิชัย เที่ยงสุรินทร์ ท่านปูพื้นฐานความรู้ด้านดนตรี ฝึกให้เล่นดนตรีหลายรูปแบบ เล่นดนตรีหลายแนว ทั้งร็อค บลูส์ ร็อคแอนโรล สอนเทคนิคการเล่น improvise, Harmony, composition ทำให้ผมเข้าใจดนตรีและเล่นดนตรีได้อย่างอิสระ กล้าเล่นดนตรีแหกกฎหรืออยู่ในกฎเกณฑ์แห่งทฤษฎี เข้าใจเหตุและผลของดนตรีในขณะเล่น
ผมอายุ 19 ปี อาจารย์วิชัย โพธิทองคำ อาจารย์สอนดนตรี (Traditional Harmony) เปิดโรงเรียนสอนดนตรีชื่อ Top Music ท่านให้ผมเป็นครูสอนกีตาร์ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมทำหน้าที่เป็นครูดนตรี หลังจากนั้นก็มีโรงเรียนดนตรีอีกหลายสถาบันติดต่อให้ผมเป็นครูดนตรี เมื่อสอนดนตรีก็เริ่มรู้จักกับครูในโรงเรียนท่านหนึ่ง นอกจากสอนดนตรีที่โรงเรียน ท่านยังเป็นนักศึกษาดนตรีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะดนตรี พวกเขามีวงดนตรีแต่มือกีต้าร์ลาออก ผมจึงสบโอกาสเข้าร่วมวง พวกเราเล่นดนตรีแนว Fusion Jazz ของศิลปิน Lee Ritenour หรือ Larry Carlton หลังจากนั้นก็เข้าประกวดสยามดนตรียามาฮ่า และ ประกวดวงดนตรี Nescafe
ปราชญ์แห่งกีตาร์อเมริกันสไตล์ของเมืองไทย
การเป็นครูสอนดนตรีถือเป็นโชคดีเพราะโรงเรียนดนตรีที่ผมสอนมีอุปกรณ์ทำมิดี้ มีเครื่องซีเคว้นเซอร์ เป็นเครื่องมือเรียบเรียง ทำเพลง ยุคสมัยก่อน ซีเคว้นเซอร์ ถือเป็นเรื่องยาก ราคาแพง ไม่ค่อยมีใช้กัน ผมมีความคิดอยากทำเพลง จึงลงมือทำเพลงเพลงบนซีเคว้นเซอร์และไปเล่นดนตรีประจำ เริ่มอัดเสียงในห้องอัดเสียง ช่วยงานพี่เขยซึ่งเป็นมือเบสของวง P.M.5 วงดนตรีของ ดอน สอนระเบียบ ทำเพลงโปรแกรมมิดี้คาราโอเก๊ะ อัดเสียงกีตาร์ในห้องอัดเสียงเพลงของ สุรชัย สมบัติเจริญ ช่วงชีวิตของผมวนเวียนอยู่กับการสอนดนตรี เล่นดนตรี ทำงานเพลง จนถึงวันที่ อาจารย์วิชัย เที่ยงสุรินทร์ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ
เมื่ออาจารย์วิชัยยังมีชีวิตอยู่ ท่านทำงานหลายอย่าง สอนดนตรี เล่นดนตรี เป็นคอลัมนิสต์นิตยสาร The Quiet Storm เมื่ออาจารย์วิชัยเสียชีวิต ผมในฐานะลูกศิษย์จึงเขียนคอลัมนิสต์นิตยสาร The Quiet Storm ต่อ ซึ่งเป็นการเปิดโลกดนตรี เนื้อหานิตยสารมีบทวิเคราะห์เพลงซึ่งผมมีความรู้มากพอสมควรจึงเขียนได้ สมัยก่อนตอนเป็นนักเรียนดนตรี อาจารย์วิชัยมักบอกให้ผมซื้อหนังสือนิตยสารดนตรีของต่างประเทศเก็บไว้ ตอนนั้นราคานิตยสารดนตรีต่างประเทศแพงมาก เงินเดือนของผมเพียง 3,000-4,000 บาท นิตยสารเล่มละ 200-300 บาท แต่นิตยสารต่างประเทศมีแบบฝึกหัด มีบทสัมภาษณ์ศิลปิน มีบทวิเคราะห์ดนตรี แม้ว่าผมจะอ่านภาษาอังกฤษไม่เก่งมากนัก แต่ผมก็ซื้อนิตยสารเก็บไว้และพยายามอ่านอยู่เสมอ เมื่อทำงานเป็นคอลัมนิสต์ ผมก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วเริ่มเขียนบทความลงนิตยสาร
ผมเขียนหนังสือ เล่นดนตรี สอนดนตรี ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองตั้งแต่อายุ 22 ปี แม้งานจะเยอะแต่งานส่วนใหญ่คือสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ ผมเริ่มทำผลงานเพลงบรรเลง Prart Conception อัลบั้มแรก Electric Guitar land เป็นงานเพลงใต้ดิน (Underground) ซึ่งเป็นผลงานชุดแรกๆของเมืองไทย ผมเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อออกรายการทีวี บันเทิงคดี ของพี่ซัน มาโนช พุฒตาล หลังจากนั้นค่ายเพลง BMG (Thailand) สนใจจึงทำอัลบั้มชุดสองชื่อ Six String Story ระว่างทำผลงานเพลงชุดสอง BMG (Thailand) ก็นำอัลบั้มชุดแรกออกวางจำหน่ายใหม่อีกครั้ง เมื่อทำผลงานชุดสองเสร็จสิ้นยังไม่ทันโปรโมทเพลง ผมก็ต้องเดินทางไปเรียนต่างประเทศ
รากฐานของแบรนด์ดนตรี Overdrive
ความคิดอยากเรียนดนตรีต่างประเทศเกิดขึ้นตั้งแต่ผมอายุ 15 ปี อาจารย์วิชัยเล่าให้ผมฟังว่า สหรัฐอเมริกามีโรงเรียนดนตรีสอน 24 ชั่วโมง นักดนตรีมีชื่อเสียงหลายคนสอนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ ผมฟังแล้วก็อยากเดินทางไปเรียนต่างประเทศ แต่ครอบครัวของเราอยู่อย่างพอเพียง พ่อแม่เป็นนักดนตรี ลุงป้ารับราชการ ความคิดเรื่องการเรียนดนตรีในต่างประเทศแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ผมก็ไม่เคยเลิกคิด จนเมื่อผมได้เงินจากการทำเพลงอัลบั้มแรกและอัลบั้มชุดที่สอง ความคิดในการเดินทางไปเรียนต่างประเทศจึงใกล้ความจริงมากขึ้น เงินยังไม่พอก็ยืมรุ่นพี่ที่มีฐานะ เมื่อมีเงินก้อนหนึ่ง ผมจึงเดินทางไปเรียนดนตรีที่ต่างประเทศ เพื่อเข้าใจความคิดของคนทำเพลงในต่างประเทศ พวกเขาคิดกันอย่างไร ผมต้องการทำเพลงสากลต้องมีรูปแบบความคิดแบบสากล แนวทางดนตรีของผมคืออเมริกันสไตล์ ผมต้องไปถึงแหล่งกำเนิด
พ.ศ.2533 ผมนั่งเครื่องบินเดินทางข้ามทวีปไปเรียนสหรัฐอเมริกา รุ่นพี่ผมฝากผมไว้กับรุ่นพี่อีกคนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่สหรัฐอเมริกา ฐานะครอบครัวของเขาไม่ได้ร่ำรวยเป็นคนทำมาหาเลี้ยงชีพ เมื่อเครื่องบินลงจอดบนสนามบินในลอสแอนเจลิส ผมโทรศัพท์หารุ่นพี่แล้วเขาก็เดินทางมารับ ให้ที่พักอาศัยอยู่ในรถบ้าน ผมอยู่กับเขาเป็นเวลา 15 วัน หลังจากนั้นก็เริ่มขยับขยายโดยติดต่อกับรุ่นพี่อีกคน เขาชวนผมไปอยู่ด้วยโดยช่วยกันแชร์ค่าเช่าบ้าน
ผมเริ่มเรียนดนตรี สถาบัน G.I.T (Guitar Institute of Technology) สถาบันสอนดนตรีที่ตั้งอยู่ใจกลางฮอลลีวูด ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เป็นเมืองแห่งดนตรีมีการแสดงคอนเสิร์ตทุกวันพุธของสัปดาห์ ผมชมการแสดงดนตรีทุกวัน ตั้งใจเลยว่าจะเรียนรู้เรื่องดนตรีเพียงอย่างเดียว เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับสถานที่ ความคิด การกระทำของผู้คน ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า การคิดอะไรยากๆ มันไม่สามารถทำได้ เราคิดให้ง่ายถึงจะทำเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย
Scott Henderson และ Joe Diorio ครูสอนดนตรี นักดนตรี มือกีต้าร์ บอกอยู่เสมอว่า อย่าคิดมาก ค่อยเรียนรู้ ค่อยเข้าใจ แล้วทำมันขึ้นมา ทำตนเองให้รู้สึกว่าสามารถควบคุมมันได้ อย่าคิดว่ากำลังปีนอยู่บนหุบเขา Scott Henderson และ Joe Diorio เป็นนักดนตรีมือกีตาร์ที่มีรูปแบบการเล่นกีต้าร์หลายอย่าง ความคิดอ่านทางดนตรีของเขาไม่ซับซ้อน แต่ตัวตนของเขามีฝีมือ ลูกเล่นทางดนตรีมีเยอะมาก มากจนทำให้ผู้คนรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องยาก
เวลากลางวันผมเรียน กลางคืนผมทำงานเป็นนักดนตรี มีรายได้จากการเล่นดนตรีเป็นทุนการศึกษาชั่วโมงละ 40 เหรียญ ทำงานวันละ 2 ชั่วโมง สามารถเลี้ยงตนเองได้ในลอสแอนเจลิส หลังจากนั้นผมเริ่มทำทุนที่ Berklee College of Music แต่ทุนการศึกษาของผมต้องเรียนอยู่ในเมืองบอสตันซึ่งอยู่ห่างไกลจากลอสแอนเจลิส มีค่าใช้จ่ายในการครองชีพสูงมาก การไปเรียนในบอสตันจึงเหมือนกับการเริ่มต้นใหม่ ผมตัดสินใจกลับมาอยู่เมืองไทย ตอนกลับผมซื้ออุปกรณ์ดนตรีใส่เรือกลับเมืองไทย เพราะตอนนั้นของที่เมืองไทยแพง จำได้ว่ามีเหลือเงินติดกระเป๋ากลับบ้านเพียง 100 เหรียญสหรัฐ
ผมกลับมาอยู่เมืองไทยเริ่มทำงานในโรงเรียนสอนดนตรี เริ่มทำรายการทีวี เริ่มมีความคิดทำนิตยสารดนตรี ผมเริ่มคิดถึงหัวหนังสือ สุดท้ายได้ชื่อนิตยสาร Overdrive เริ่มทำนิตยสารฉบับแรกเป็นหนังสือแจกฟรี หาผู้สนับสนุนเพื่อลงโฆษณาหน้าละ 3,000-4,000 บาท มีพี่โอม ชาตรี คงสุวรรณ ,พี่ป๊อปเดอะซัน หรือ จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย เป็นคอลัมนิสต์รับเชิญ หลังจากนั้น Overdrive ก็เติบโตตามแนวทางของ Guitar Magazine คือมีนิตยสาร Overdrive เป็นนิตยสารเล่มหลัก นิตยสาร Com Music นิตยสาร Rhythm Section เป็นนิตยสารเฉพาะ แยกย่อยตามลักษณะของเนื้อหา
Overdrive วงจรดนตรีสไตล์อเมริกันของประเทศไทย
สหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าทางดนตรี คนอเมริกันล้ำหน้าคนไทยเพราะต้นกำเนิดกีต้าร์อยู่ที่นั่น ในเมืองลอสแอนเจลิส มีคอนเสิร์ต เวิร์คชอป สื่อแม็กกาซีน และอีกหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับดนตรี ผมนำวงจรรูปแบบดนตรีของลอสแอนเจลิสมาทดลองทำในบ้านเรา ผมทำทีละน้อย เริ่มจากการสร้างโรงเรียนสอนดนตรี ทำรายการทีวี ทำนิตยสาร Overdrive ทำเวิร์คชอปดนตรี (Overdrive Music-Workshop) จัดคอนเสิร์ตต่างประเทศ (International Concert ) จัดงานประกวดการเล่นกีต้าร์ (Overdrive Guitar Contest)
การจัดกิจกรรมให้ความรู้ทางดนตรี ผมทำเวิร์คชอปดนตรี (Overdrive Music-Workshop) เริ่มต้นจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตและสอนเทคนิคการเล่นกีต้าร์ ตระเวนทำกิจกรรมในแต่ละภาคของประเทศ หลังจากนั้นเริ่มจัดงานประกวดการเล่นกีต้าร์แห่งประเทศไทย (Overdrive Guitar Contest) ผมจัดงานประกวด 12 ครั้ง มองเห็นนักดนตรีส่งผลงานเข้าประกวดจากยุคบันทึกเสียงเป็น ม้วนเทป แผ่นซีดี เป็นคลิปวีดีโอ Overdrive อยู่มานานกว่า 23 ปี เพราะเป็นดนตรีอเมริกันสไตล์มีความชัดเจนตั้งแต่แรก ช่วงหลังจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของนักดนตรี สมัยก่อนนักดนตรีที่เข้าร่วมกิจกรรมจะเป็นเพศชาย แต่ช่วงหลังพบว่า ผู้หญิงที่มีความสามารถด้านดนตรีมีความสนใจร่วมกิจกรรมมากขึ้น
สำหรับการครองตนของนักดนตรี ผมเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล สมัยก่อนตอนเรียนต่างประเทศผมมองเห็นนักดนตรีหลายคนเสพเยาเสพติด แต่พวกเขาก็สอนให้ผมรู้จักกับดนตรี สอนผมเล่นเพลงร็อคแอนโรล แต่ผมก็ไม่เคยเสพยาเสพติดหรือใช้ชีวิตเกเร เพราะผมมีความมุ่งมั่นจนไม่มีวันเวลาเหลือให้กับความเกเรหรือยาเสพติด นักดนตรีมีหลายประเภท บางคนติดยา บางคนเล่นดนตรีเอาเท่ส์ บางคนเล่นดนตรีเลี้ยงชีพแต่ไม่มีการพัฒนา สำหรับผมคิดว่า ความมุ่งมั่นคือสิ่งที่ทำให้นักดนตรีใช้เวลาในการพัฒนาความสามารถ จนไม่มีเวลาเกเรหรือยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
ผมมีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่อยากทำ Overdrive เป็นธุรกิจอันถือเป็นเครื่องมือการสำหรับการทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ความคิดแบบนี้ไม่ถูกต้องนักสำหรับนักธุรกิจ แต่ผมยึดถือเรื่องธุรกิจเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือการทำงานในสิ่งที่ตนรักชอบ ผมถือว่า Overdrive เป็นสถาบันความรู้ทางดนตรี เราทำงานสร้างสรรค์จรรโลงโลกไม่เบียดเบียนสิ่งที่มีอยู่ ผมทำงานในบริษัทเหมือนเด็กกำลังเล่นของเล่น ทำงานด้วยความสนุกแล้วส่งต่อให้กับคนอื่น โปรเจคการทำงานของผมเป็นเรื่องใหม่ ส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จ บริษัทเติบโตมีรายได้ไม่มากแต่ได้รับความสนใจจากสังคม พวกเราทำงานในความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นบริษัทที่มองโลกในแง่ดี
สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศคงต้องรออีกพักใหญ่ เพราะบ้านเมืองของเรามีปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง แต่หากมองที่ตัวตนนักดนตรี คุณภาพของนักดนตรี เราจะเห็นมาตรฐานของนักดนตรียุคสมัยใหม่มีพื้นฐานทางดนตรีดีมาก สิ่งที่พวกเขาควรพัฒนานอกจากฝีมือการเล่นคือความเป็นตัวตนและความคิด
“ตัวตน” เป็นสิ่งสำคัญ สหรัฐอเมริกาประเทศต้นแบบมีมือกีต้าร์อเมริกันสไตล์ มีมือกีต้าร์ที่มีฝีมือทัดเทียมกับ Yngwie Malmsteen หรือ Steve Vai จำนวนนับพันคน แต่คนอเมริกันไม่ต้องการ Yngwie หรือ Steve Vai หมายเลข 2 นักฟังเพลงคนไทยก็เช่นกัน พวกเขาต้องการศิลปินอันมีตัวตนเป็นอัตลักษณ์ ผมมองเห็นเด็กนักเรียนดนตรีหลายคนพยายามเล่นดนตรี หรือทำเพลงเหมือนกับวงบอดี้สแลม อยากเป็นเหมือนวงบอดี้สแลมจนสูญเสียความเป็นตัวตนของตนเอง ตัวอย่างที่ดีสำหรับการพัฒนาคือ ต้น จักรินทร์ จูประเสริฐ มือกีต้าร์วงซิลลี่ฟูล เขามีแนวทางการเล่นดนตรีที่น่าสนใจ มีแนวคิดกบถทางดนตรีมาแต่เริ่มแรก เล่นดนตรีแนวเฮฟวีเมทัล (Heavy metal) เดทร็อค (Dread Rock) เมื่อหันมาทำดนตรีแนว pop ดนตรีก็มีอัตลักษณ์ หากมองภาพรวมของนักดนตรีไทย ผมมองเห็นทิศทางของโลกดนตรีในอนาคตจะเล็กลง นักดนตรีไทยสามารถพัฒนาฝีมือสู่การเป็นนักดนตรีระดับโลกได้
สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)