เป็นพระพุทธรูปเนื้อหินทราย(รูปที่ 1,2) ปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิราบ ขนาดใหญ่มีหน้าตักกว้าง 110 ซม. สูง 140 ซม. สภาพองค์สมบูรณ์ ศิลปะสกุลช่างพะเยา อายุสมัยประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ลักษณะรูปแบบพระพักตร์ทรงสี่เหลี่ยมมน พระขนงไม่โก่งมากนัก พระนาสิกค่อนข้างใหญ่ แนวพระเนตรเกือบเป็นเส้นตรง พระโอษฐ์ยิ้มเล็กน้อย มุมพระโอษฐ์ทั้งสองข้างตวัดขึ้นเล็กน้อย ส่วนพระเกตุมาลาเป็นทรงเตี้ยๆมีขนาดค่อนข้างใหญ่รองรับพระรัศมีเปลว พระสังฆาฏิเป็นแผ่นขนาดค่อนข้างใหญ่ยาวลงมาจรดพระนาภี พระหัตถ์และนิ้วพระหัตถ์ค่อนข้างใหญ่เทอะทะ ปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกันทุกนิ้ว

จากประวัติการค้นพบพระพุทธรูปองค์นี้ พบเมื่อปีพ.ศ. 2526 ที่บริเวณเนินสันธาตุวัดร้างในกว๊านพะเยา( ขณะนั้นยังไม่ทราบชื่อวัด ) ภายหลังชาวบ้านได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีอุโมงค์คำ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา กระทั่งต่อมาปีพ.ศ. 2550 ทางจังหวัดพะเยาได้มาบูรณะวัดร้างแห่งนี้และค้นพบศิลาจารึก จึงทราบว่าชื่อ “วัดติโลกอาราม” จากนั้นในปีเดียวกันทางจังหวัดและคณะสงฆ์จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้กลับไปประดิษฐานที่วัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยาดังเดิมจนถึงปัจจุบันและเรียกนามว่า “หลวงพ่อศิลาวัดติโลกอาราม”

ข้อมูลอ้างอิง: – หนังสือประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมเมืองพะเยา,สำนักพิมพ์มติชน – หนังสือหริุญชัย-ล้านนา, ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม