พวกเงี้ยวหรือไทใหญ่ เป็นกลุ่มชาติพันธ์ุกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่าได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองพะเยานานแล้วแต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยเมื่อใด อย่างไรก็ตามจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดหลวงราชสัณฐานในเมืองพะเยาซึ่งสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2410 ได้ปรากฏภาพของพวกเงี้ยวเป็นหลักฐาน ทำให้สันนิษฐานว่า ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์หลังการฟื้นเมืองพะเยาในปีพ.ศ. 2387ได้มีพวกเงี้ยวเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองพะเยาแล้ว

ต่อมาภายหลังสมัยรัชกาลที่ 5 พวกเงี้ยวได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองพะเยาเป็นจำนวนมาก โดยเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานให้กับบริษัทสัมปทานป่าไม้ของอังกฤษ และส่วนหนึ่งเข้ามาทำอาชีพค้าขายหรือบ้างก็เป็นช่างฝีมือ ถิ่นที่พวกเงี้ยวส่วนใหญ่อาศัยอยู่คือ ชุมชนบ้านแม่ต๋ำ ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ พื้นที่พวกเงี้ยวอาศัยอยู่ตั้งแต่บริเวณวัดศรีจอมเรืองซึ่งอยู่ใกล้กับริมน้ำแม่อิง ข้ามฝั่งแม่น้ำอิงไปถึงวัดแม่ต๋ำเมืองชุม วัดแม่ต๋ำภูมินทร์ วัดแม่ต๋ำอินทร์ฐาน และวัดแม่ต๋ำป่าลาน

ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์พวกกบฏเงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพเมื่อพ.ศ. 2445 เมืองพะเยาเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ถูกพวกกบฏเงี้ยวเข้าปล้น ภายหลังเมื่อถูกกองทัพสยามปราบปรามจนพ่ายแพ้ พวกเงี้ยวในเมืองพะเยาหลายคนที่มีส่วนพัวพันในเหตุการณ์จลาจลถูกประหารชีวิต และมีพวกเงี้ยวที่อาศัยอยู่ในชุมชนแม่ต๋ำจำนวนไม่น้อยที่เกรงกลัวว่าจะมีความผิดจึงอพยพหลบหนีภัยไป ส่วนพวกเงี้ยวที่ไม่ยอมหลบหนีไปบางคนต้องตัดผมสั้นเพื่อให้กลมกลืนเหมือนกับคนพื้นเมือง และวัดศรีจอมเรืองซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพวกเงี้ยวและพม่าต้องร้างไปเป็นเวลานานถึง 2 ปี กระทั่งเหตุการณ์สงบลงจึงมีการฟื้นฟูวัดขึ้นมาอีกครั้ง ในราวปีพ.ศ. 2447

ภาพ: ขบวนแห่งาช้างของพวกพ่อค้าชาวพม่าและเงี้ยวบ้านแม่ต๋ำเพื่อนำไปน้อมเกล้าถวายให้แก่รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองพะเยา พ.ศ. 2469 เครดิตภาพ: คาคิจิ ยากิ