เหตการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ล้านนา ครั้งหนึ่ง.. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมือง เมื่อสล่าโปไชยกับผะกาหม่องหัวหน้าพวกโจรเงี้ยวพร้อมกับสมุนกว่า 300 คนยกกำลังเข้าก่อการจลาจลปล้นเมืองแพร่จนสามารถยึดเมืองแพร่ได้สำเร็จอย่างง่ายดาย เหตุการณ์ครั้งนั้นพวกโจรเงี้ยวได้สังหารข้าราชการและพลเรือนชาวสยามไปประมาณ 29 คน

บุคคลสำคัญที่เสียชีวิตได้แก่ พระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงประจำเมืองแพร่ หลวงวิมล ผู้ช่วยข้าหลวงเมืองแพร่ พระเสนามาตย์ ยกกระบัตรศาล หลวงศรีพิไนย์ พะทำมะรง(พัศดี) ขุนพิพิธโกษา ข้าหลวงคลัง นายร้อยตรีตาด ผู้บังคับกองตำรวจภูธรเมืองอุตรดิตถ์และนายร้อยตรีตาด ผู้ช่วยบังคับกองตำรวจภูธรเมืองแพร่ ส่วนทรัพย์สินทางราชการถูกปล้นและทำลายเสียหายเกือบทั้งหมด เงินในคลังหลวงจังหวัดถูกปล้นไปประมาณ 40,000 รูปี

พวกโจรเงี้ยวได้ใช้เงินที่ปล้นมาเป็นสินบนนำจับข้าราชการและพลเรือนชาวสยามที่หลบหนี มีชาวพื้นเมืองหลายคนที่แจ้งเบาะแสเพื่อหวังเงินสินบนนำจับ ทำให้ชาวสยามหลายคนถูกสังหาร การไล่ล่าสังหารชาวสยามในเมืองแพร่ดำเนินอยู่เป็นเวลาหลายวัน โดยไม่มีการโต้ตอบจากทางการแต่อย่างใด ทำให้พวกโจรเงี้ยวเหิมเกริมวางแผนเข้าปล้นเมืองลำปางเป็นเป้าหมายต่อไป

การเข้าปล้นเมืองลำปางเกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2445 เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ฝ่ายทางการซึ่งมีกัปตันเยนเซ่น(Captain H.M. Jensen) ข้าราชการตำรวจสยามชาวเดนมาร์คกับมิสเตอร์หลุยส์ ที. เลียวโนเวนซ์ (Louis T. Leonowens) นักธุรกิจค้าไม้ชาวอังกฤษพร้อมกับกองกำลังตำรวจและอาสาสมัครชาวบ้านจำนวนหนึ่งช่วยกันต่อสู้กับพวกโจรเงี้ยวอย่างแข็งขัน จนได้รับชัยชนะและสามารถป้องกันเมืองลำปางไว้ได้สำเร็จ ชัยชนะครั้งนี้ฝ่ายทางการไม่มีการสูญเสียชีวิต ส่วนพวกโจรเงี้ยวเสียชีวิตไปประมาณ 60 คนส่วนพวกโจรเงี้ยวที่รอดชีวิตได้หนีแตกพ่ายไป

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2445 กองทัพสยามจากกรุงเทพฯและหัวเมืองใกล้เคียงเช่นเมืองพิชัย สวรรคโลก สุโขทัย ตากและน่านรวมจำนวนหลายพันนาย โดยมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม แสงชูโต)เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพมาปราบปรามพวกกบฏเงี้ยว ซึ่งใช้เวลาไม่นานนักสามารถยึดเมืองแพร่กลับคืนมาได้สำเร็จ พวกกบฏเงี้ยวที่ถูกจับกุมได้ ทางการนำตัวไปประหารชีวิตจำนวนหลายสิบคนพร้อมกับชาวพื้นเมืองที่ร่วมสมคบกับพวกกบฏเงี้ยวก่อการจลาจล ส่วนพวกที่เหลือถูกลงโทษจำคุกลดหลั่นกันไปตามความผิด เจ้านายฝ่ายเหนือที่มีส่วนพัวพันเกี่ยวข้องเช่น เจ้าหลวงแพร่และเจ้านายอื่นๆได้ถูกทางการควบคุมตัวไว้รอการสอบสวน มีเจ้านายเมืองแพร่บางคนเกรงกลัวความผิดชิงฆ่าตัวตายไปเสียก่อน ส่วนพวกกบฏเงี้ยวที่หลบหนีไปได้ มีบางส่วนได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเตรียมจะเข้าปล้นเมืองพะเยาและงาว ซึ่งเป็นเป้าหมายต่อไป.

Columnist : เกื้อพงษ์ ชัยดรุณ 
facebook. kueaphong.chaidarun 

ภาพประกอบ: กองกำลังทหารจากมณฑลพิษณุโลกที่มาปราบพวกกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ขณะกำลังตั้งค่ายพักแรมอยู่ที่บ้านปางอ้อ เขตรอยต่อแพร่-อุตรดิตถ์ เครดิตภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือครบรอบ 100 ปีเหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2445 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3