เหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากพวกเงี้ยวก่อการจลาจลปล้นเมืองแพร่จนสามารถยึดเมืองได้สำเร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2445 ถัดจากนั้นไม่นานก็ได้บุกเข้าปล้นเมืองลำปางในเดือนสิงหาคม แต่กระทำการไม่สำเร็จ เพราะถูกฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต่อต้านอย่างแข็งขันสามารถรักษาเมืองไว้ได้ ทำให้พวกเงี้ยวเบนเป้าหมายวางแผนเข้าปล้นเมืองงาวและพะเยาในเวลาต่อมา
เหตุการณ์พวกเงี้ยวเข้าปล้นเมืองพะเยา ปรากฏหลักฐานอยู่ในบันทึกประจำวันของพระครูศรีวิลาสวชิรปัญญา อดีตเจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา ซึ่งได้เล่าไว้อย่างละเอียดว่า เหตุเริ่มเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2445 กลุ่มกำลังพวกเงี้ยวซึ่งระดมพลอยู่ที่บ้านป่าแดด อ.พาน จ.เชียงราย ยกกำลังเข้ามาปล้นเมืองพะเยาชุดแรกประมาณ 12 คนและเข้ามาสมทบอีก 21 คน สถานการณ์ตอนนั้นชุลมุนวุ่นวายผู้คนในเมืองต่างหวาดกลัวได้อพยพหลบหนีไปอยู่นอกเมือง พวกเจ้านายฝ่ายเหนือกับข้าราชการชาวสยามบางส่วนได้หลบหนีไปก่อนหน้านั้นแล้ว แล
สถานการณ์กลับตึงเครียดขึ้นอีกเมื่อกระแสข่าวว่า กำลังพวกเงี้ยวจากลำปางจะเข้ามาสมทบ พวกเงี้ยวสามารถยึดเมืองพะเยาได้อย่างง่ายดายเพราะไม่มีการต่อต้านจากทางฝ่าย บ้านเมือง กระทั่งเวลาล่วงไปจนถึงวันที่ 13 ตุลาคม ทางการจึงส่งกองกำลังตำรวจภูธรลำปาง นำโดยกัปตันเย็นเซ่น มาปราบปรามพวกเงี้ยวที่เมืองพะเยา กว่าทางการจะควบคุมสถานการณ์ได้ต้องใช้เวลาหลายวันเหตุการณ์จึงสงบลง พวกกบฏเงี้ยวและคนพื้นเมืองที่มีส่วนพัวพันถูกทางการจับกุม ศาลทหารได้ดำเนินการพิจารณาคดีตัดสินประหารชีวิตไปจำนวน 11 คน ส่วนนักโทษที่เหลือถูกจองจำโทษหนักเบาตามความผิด
อย่างไรก็ตามในบันทึกฯไม่ได้เล่าถึง สภาพความเสียหายของบ้านเมืองที่เกิดจากฝีมือของพวกกบฏเงี้ยว แต่กลับเล่าถึงว่า หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ทางฝ่ายบ้านเมืองซึ่งมีทั้งเจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการและชาวบ้านบางส่วนร่วมมือพากันไปรื้อวัดวาอารามร้างต่างๆที่อยู่ในตัวเมืองและนอกเมือง เช่น วัดร้างในเขตเวียงเก่าเวียงน้ำเต้า เวียงปู่ล่าม กลุ่มวัดร้างที่อยู่ในบริเวณกว๊านพะเยาทั้งหมด รวมถึงกลุ่มวัดร้างในโลกติลกสังฆาราม(ปัจจุบันคือ กลุ่มวัดร้างในโบราณสถานบ้านร่องไฮ อ.เมือง จ.พะเยา)
จำนวนวัดร้างมากมายถูกรื้อทำลายโดยทางการอ้างเหตุผลว่า จะเอาก้อนอิฐไปก่อสร้างกำแพงเมืองเพื่อป้องกันข้าศึก (พวกเงี้ยว) อย่างเร่งด่วนซึ่งเกรงว่า ถ้าจะปั้นก้อนอิฐคงจะไม่ทันการ เพราะเหตุนี้ทำให้ เจดีย์วัดร้างถูกรื้อทำลายอย่างย่อยยับ ทรัพย์สินสิ่งของมีค่ามากมายที่อยู่ในกรุถูกขโมยไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวทั้งของเจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าพระครูศรีวิลาสวชิรปัญญา ในฐานะเจ้าคณะแขวงเมืองพะเยาซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบวัดวาอารามในเมืองพะเยาพยายามคัดค้านถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถจะทัดทานได้
สิ่งนี้กลายเป็นจุดด่างพร้อยในประวัติศาสตร์เมืองพะเยา และทำให้เข้าใจแล้วว่าเพราะเหตุใด? โบราณสถานวัดร้างในเมืองพะเยาแทบไม่หลงเหลือซากให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆที่เมืองพะเยาเป็นเมืองพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตโบราณกาล วัดจำนวนมากมายถูกสร้างขึ้นมาเพราะความเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าและปรารถนาจะให้ดินแดนแห่งนี้เป็น”พุทธภูมิพิสุทธิ์” ซึ่งเป็นข้อความปรากฏอยู่ในจารึกของเมืองพะเยาเมื่อ 500 กว่าปีแล้ว
Columnist : เกื้อพงษ์ ชัยดรุณ facebook. kueaphong.chaidarun
ภาพที่ 1 กองทัพสยามขณะกำลังเดินทัพมาถึงเขาพลึง จ.อุตรดิตถ์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2445 คราวมาปราบพวกกบฏเงี้ยวที่เมืองแพร่ เครดิตภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ภาพที่ 2 พระครูศรีวิลาสวชิรปัญญา อดีตเจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา เครดิตภาพ: วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา