จาก Ep.1 ผมตั้งใจนำเพลงของ Steve Vai มาพูดถึงแนวคิด Lydian Mode ในเพลง For the Love of God ที่สัมพันธ์กับคอร์ด Fmaj7(#11) อาจกล่าวได้ว่าเป็นการนำแนวคิดด้านความสัมพันธ์ระหว่างคอร์ดกับบันไดเสียง (Chord and Scale Relationships) มาสอดแทรก ( Ep.1 Lydian Mode กับคอร์ดที่สัมพันธ์กันในเพลง For the Love of God ศิลปิน Steve Vai ) ผมนำเสนอ Ep.1 ไปเพื่ออยากชักชวนผู้อ่านมาดูการแสดงคอนเสิร์ต Steve Vai Inviolate Tour Bangkok 2023 วันที่ 28 ตุลาคม 2566 สถานที่จัดงานคือ MCC Hall ชั้น 4 The Mall Lifestore Ngamwongwan จัดโดยปราชญ์มิวสิค

นอกจากนี้ผมอาจคิดแทนผู้อ่านที่เผอิญเข้ามาอ่านบทความว่า น่าจะรู้จักมือกีตาร์คนนี้มาบ้างเลยไม่ขอพูดถึงเชิงประวัติของเขา จากผลพวงสาระ Ep.1 ที่ผ่านมาทำให้ผมคิดว่าควรยกตัวอย่างแนวคิด Lydian Mode อีกสักเล็กน้อย เนื่องจาก Steve Vai ยังได้สอดแทรกไปในเพลงอื่นอีกและน่าจะมีประโยชน์หากนำมาพูดถึงสาระด้วย ซึ่งผมเลยเถิดคิดแทนผู้อ่านต่อไปอีกว่าอาจมีประโยชน์ยิ่งขึ้น หากนำไปประยุกต์สร้างสรรค์ในมิติอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับเรื่อง Mode ต่อไป เช่น การแต่งเพลง การเรียบเรียงเพลง หรือแนวทางการอิมโพรไวส์ เป็นต้น

สำหรับ Ep.2 นี้ยังคงมีความเชื่อมโยงกับประเด็น Lydian Mode ผมนำเพลง The Crying Machine ในผลงานชื่อ Fire Garden จัดจำหน่ายปี ค.ศ. 1996 (รูปที่ 1) มาพูดถึง โดยผมพิจารณาว่า Steve Vai มีการนำเสนอทิศทางต่างออกไปจากเพลง For the Love of God ใน Ep.1 ซึ่งเพลง The Crying Machine บรรเลงด้วยลีลา Funk Rock ผมจะใช้ Time Signature เป็น 4/4 สำหรับการอธิบายสาระทั้งหมดในบทความนี้และเน้นประเด็นที่สอดคล้องกับ Lydian Mode เป็นแนวทางหลัก ทั้งนี้บางกรณีอาจพูดถึงบริบทอื่นประกอบเพื่อความชัดเจนของสาระต่าง ๆ

เพลงเริ่มต้นด้วยช่วงนำเข้าจำนวน 2 ห้อง แนวทำนองกีตาร์ไฟฟ้าบรรเลงด้วยเทคนิค Unison Bends ผสมผสานกับการบรรเลงสนับสนุนจากกลุ่ม Rhythm Section ชักจูงให้ผู้ฟังเข้าสู่เรื่องราวต่าง ๆ จากนั้นเริ่มเข้าสู่ช่วงแนวทำนองหลัก A เวลาในเพลงประมาณนาทีที่ 0.02-0.38 นาที แนวทำนองหลักนี้ภาพรวม Key Center อยู่บนทิศทางของ Key E minor เป็นส่วนใหญ่ และเริ่มปรากฏแนวทำนองหลัก B (ประมาณนาทีที่ 0.39-0.57 นาที) โดยภาพรวมช่วงนี้อยู่บน Key E Major การดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A และ B เป็นดังนี้  

1) การดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A ประมาณนาทีที่ 0.02-0.38 นาที

2) การดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B ประมาณนาทีที่ 0.39-0.57 นาที

การดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A และ B ยังพบว่ามีการนำกลับมาเป็นวัตถุดิบสำหรับบรรเลงซ้ำในเพลงด้วย เช่น หลังจบช่วงแนวทำนองหลัก B ตั้งแต่ประมาณนาทีที่ 0.58-1.14 นาที เป็นการใช้วัตถุดิบการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A นำมาบรรเลงอีกครั้งจำนวน 8 ห้อง จากนั้นจะเข้าสู่เรื่องราวในช่วงเชื่อมต่อไป (Bridge) หรือช่วงแปรทำนองของกีตาร์ไฟฟ้าประมาณนาทีที่ 2.10-2.44 นาที ซึ่งเป็นช่วงที่บรรเลงด้วยลักษณะ Half Time เป็นการอาศัยวัตถุดิบจากการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B ทั้งนี้อาจปรับเปลี่ยนคอร์ดให้แตกต่างออกไปจากเดิมเพื่อให้เหมาะสมกับทิศทางในเพลง จากตัวอย่างแนวคิดการนำการดำเนินคอร์ดกลับมาเป็นวัตถุดิบบรรเลงซ้ำข้างต้นสรุปได้ดังนี้

1) วัตถุดิบจากการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A ประมาณนาทีที่ 0.58-1.14 นาที

2) วัตถุดิบจากการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B ประมาณนาทีที่ 2.10-2.44 นาที

ประเด็นที่ผมนำมาพูดถึงใน Ep.2 คือช่วงการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B มีความน่าสนใจด้วยการสอดแทรกแนวคิด Lydian Mode โดยพิจารณาจากแนวคิด Modal Interchange กล่าวคือเป็นลักษณะแนวคิดการยืมคอร์ดมาจาก Mode ที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งในเพลง The Crying Machine ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B นั้นมีภาพรวมอยู่บน Key E Major หากพิจารณาเชิงลึกขึ้นพบว่ามีการผสมผสานแนวคิด Modal Interchange ด้วยการยืมคอร์ดมาจาก E Lydian Mode สังเกตว่าทั้ง E Major และ E Lydian Mode มี Key Center ที่มี Tonic Note ตัวเดียวกันคือโน้ต E หรืออาจกล่าวว่ามีโน้ต E เป็น Key Center  ที่สัมพันธ์กัน เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นผมได้แสดง Chord Diatonic ของ E Major และ E Lydian Mode ทั้งประเภท Triad และ Seventh Chord ลงในตารางด้านล่างนี้ หมายเหตุ เพื่อความเข้าใจที่สะดวกลำดับ Chord Diatonic ผมพิจารณาแสดงผลด้วยตัวเลขอารบิก 1-7

 1234567
E Major (Triad)EF#mG#mABC#mD#dim
E Major (Seventh Chord)Emaj7F#m7G#m7Amaj7B7C#m7D#m7b5
E Lydian Mode (Triad)EF#G#mA#dimB  C#mD#m
E Lydian Mode (Seventh Chord)Emaj7F#7G#m7A#m7b5Bmaj7C#m7D#m7

หากพิจารณาถึงคอร์ดที่ปรากฏในการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B พบว่ามีการใช้คอร์ดหลากหลาย เพื่อให้สะดวกและสอดคล้องกับตาราง Chord Diatonic ของ E Major และ E Lydian Mode ด้านบน ผมได้พิจารณาปรับเปลี่ยนคอร์ดบางคอร์ด แต่ยังคงมีทิศทางเหมือนกับการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B ที่ปรากฏในเพลง The Crying Machine ทั้งนี้เพื่อให้สามารถพิจารณาร่วมกับตารางด้านบนได้สะดวกยิ่งขึ้น ผมพิจารณาปรับเปลี่ยนเป็นคอร์ดตามที่ปรากฏด้านล่างนี้ โดยเครื่องหมายลูกศรตรงการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B แสดงถึงคอร์ดที่ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับตาราง  

การดำเนินคอร์ด ช่วงแนวทำนองหลัก B:

ปรับเปลี่ยนเป็นคอร์ด:

เมื่อได้การดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B ที่สอดคล้องกับตาราง Chord Diatonic ของ E Major และ E Lydian Mode แล้ว ผมจะนำตารางนี้กลับมาแสดงอีกครั้งแต่เป็นการแสดงด้วยคอร์ดที่สอดคล้องกับการดำเนินคอร์ดนี้ (สังเกตคอร์ดในตารางตัวสีเข้ม) หมายเหตุ สำหรับกรณีนี้คอร์ด E, Emaj7 และ B แม้ว่าเป็นคอร์ดที่ปรากฏใน E Lydian Mode ด้วยเช่นกัน แต่ผมพิจารณาเป็นคอร์ดที่อยู่ในทิศทางของ E Major มากกว่า เนื่องจากพิจารณาถึงภาพรวมการดำเนินคอร์ดทั้งหมดรวมถึงแนวทำนองที่บรรเลงจากกีตาร์ไฟฟ้าร่วมด้วยจึงมีแนวโน้มเป็นดังกล่าว

การดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B (ปรับเปลี่ยนคอร์ดให้สอดคล้องกับตาราง

 1234567
E Major (Triad)E  F#mG#mA  B  C#mD#dim
E Major (Seventh Chord)Emaj7F#m7G#m7Amaj7B7C#m7D#m7b5
E Lydian Mode (Triad)EF#G#mA#dimC#mD#m
E Lydian Mode (Seventh Chord)Emaj7F#7G#m7A#m7b5Bmaj7C#m7D#m7

จากตารางข้างต้นสังเกตว่าการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B มักอยู่ใน Chord Diatonic ของ E Major เป็นส่วนใหญ (คอร์ดตัวสีเข้ม) ยกเว้นตรงคอร์ด F#7 ที่ต่างออกไป หากนำมาพิจารณาร่วมกับตารางข้างต้นพบว่าคอร์ด F#7 เป็น Chord Diatonic ลำดับที่ 2 ของ E Lydian Mode ทำให้สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า การดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B มีการผสมผสานกันระหว่าง E Major และ E Lydian Mode (ตรงคอร์ด F#7) เพื่อสนับสนุนให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นด้านประเด็น E Lydian Mode ผมได้นำแนวทำนอง มาพิจารณาร่วมด้วย อาจทำให้ทราบถึงแนวคิดที่เชื่อมโยงกับแนวคิด Lydian Mode ยิ่งขึ้น โดยนำ E Major Scale และ E Lydian Mode มาเป็นข้อมูลพื้นฐานและต้องทราบถึงสมาชิกโน้ตทั้งหมดเสียก่อน ผมนำแนวคิดการหาสมาชิกโน้ต E Lydian Mode ด้วยวิธีเปรียบเทียบโครงสร้างกับ E Major Scale โดยปรับลำดับขั้นที่ 4 สูงขึ้นครึ่งเสียงตามแนวทางที่ได้กล่าวถึงไปใน Ep.1 ทำให้ได้สมาชิกโน้ตเป็นดังต่อไป (สามารถย้อนกลับไปอ่านแนวคิดนี้ได้จาก Ep.1 ที่ผ่านมา)

ตัวอย่าง E Major Scale = E-F#-G#-A-B-C#-D# (ลำดับโครงสร้าง 1-2-3-4-5-6-7)

E Lydian Mode = E-F#-G#-A#-B-C#-D# (ลำดับโครงสร้าง 1-2-3-#4-5-6-7)

โน้ตเอกลักษณ์ของ E Lydian Mode คือโน้ต A# หากนำมาร่วมพิจารณาบทบาทที่เกิดขึ้นบนแนวทำนอง อาจสามารถทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างโน้ตเอกลักษณ์และคอร์ดที่สัมพันธ์กัน โดยประเด็นพิจารณาร่วมกับแนวทำนองจากนี้ไป เป็นการดำเนินคอร์ดที่ปรากฏในเพลง  The Crying Machine ช่วงแนวทำนองหลัก B คือ

ตัวอย่างที่ 1 แสดงช่วงแนวทำนองหลัก B และการบรรเลงประกอบของคอร์ดที่บรรเลงด้วยกีตาร์ไฟฟ้าห้องที่ 19-27 เวลาในเพลงประมาณนาทีที่ 0.39-0.57 นาที ผมนำห้องที่ 20 และ 22มากล่าวถึง (สังเกตเครื่องหมาย * ตัวอย่างที่ 1) ประเด็นความน่าสนใจคือห้องดังกล่าวบรรเลงอยู่บนคอร์ด F#7(add4) เช่นเดียวกัน โดยแนวทำนองปรากฏการสอดแทรกโน้ตเอกลักษณ์ของE Lydian Mode คือโน้ต A# ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคอร์ดนี้กล่าวคือคอร์ด F#7(add4) ประกอบด้วยสมาชิกโน้ต F#-A#-B-C#-E สังเกตว่าโน้ต A# เป็นทั้งสมาชิกคอร์ดและยังเป็นโน้ตเอกลักษณ์สำคัญของ E Lydian Mode ส่งผลทำให้มีติเสียงที่เกิดขึ้นตรงคอร์ดนี้มีความสอดคล้องสนับสนุนกันทั้งคอร์ดและแนวทำนอง ผมแนะนำให้ฟังเพลงร่วมด้วยหรือบรรเลงกีตาร์จากตัวอย่างที่ 1 ร่วมไปด้วยจะทำให้ได้ยินมิติเสียงที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างที่ 1 แสดงช่วงแนวทำนองหลัก B ห้องที่ 19-27 ประมาณนาทีที่ 0.39-0.57 นาที

ยังมีการผสมผสาน E Lydian Mode ในช่วงการแปรทำนองของกีตาร์ไฟฟ้า โดยเป็นช่วงอาศัยวัตถุดิบจากการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B บรรเลงลักษณะ Half Time (ที่เคยกล่าวถึงไปบ้างแล้วข้างต้น) เพื่อให้ไม่เยิ่นเย้อเกินไปผมนำการดำเนินคอร์ดช่วงบรรเลงลักษณะ Half Time ตั้งแต่ห้องที่ 62-69 เวลาในเพลงประมาณนาทีที่ 2.10-2.26 นาที มากล่าวถึงเพียงบางส่วน   ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงแนวคิดเชื่อมโยงกับ E Lydian Mode ได้ ซึ่งการดำเนินคอร์ดอาศัยวัตถุดิบจากการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B เป็นดังนี้

ตัวอย่างที่ 2 ผมอยากชี้นำให้ผู้อ่านสังเกตจากเครื่องหมาย * ที่ปรากฏตรงห้องที่ 64, 66-67 และ 69 แนวทำนองมีการผสมผสาน E Lydian Mode พิจารณาจากโน้ต A# ซึ่งเป็นโน้ตเอกลักษณ์ ห้องที่ 64 และ 69 ถูกบรรเลงบนคอร์ด F#7(add4) ผมพิจารณาว่ามีแนวคิดคล้ายกับช่วงแนวทำนองหลัก B คือแนวทำนองและคอร์ดมีความสอดคล้องสนับสนุนกัน ส่วนกรณีห้องที่ 66-67 มีการผสมผสานแนวคิด Lydian Mode ต่างออกไปคือปรากฏบทบาทโน้ตเอกลักษณ์สำคัญของ E Lydian Mode บนคอร์ด E(add9) หากนำคอร์ดนี้ไปเปรียบเทียบกับตาราง Chord Diatonic ข้างต้นผมพิจารณาว่าอาจมีบทบาทหน้าที่เช่นเดียวกับคอร์ด E หรือคอร์ด Emaj7 หากย้อนกลับไปที่ Ep.1 ผมเคยกล่าวไปแล้วว่า Lydian Mode เป็นประเภท Major และมีความสัมพันธ์กับคอร์ดประเภท Major สำหรับกรณีห้องที่ 66-67 น่าจะเป็นกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 14-1024x316.png

ตัวอย่างที่ 2 ช่วงแปรทำนองของกีตาร์ไฟฟ้า ห้องที่ 62-69 ประมาณนาทีที่ 2.10-2.26 นาที

จากที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของ Steve Vai ที่ได้ผสมผสานแนวคิด Lydian Mode ไว้ในเพลง The Crying Machine ผมขอกล่าวโดยสรุปสำหรับ Ep.2 ดังนี้


1) มีการใช้แนวคิด Modal Interchange ในการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B โดยผสมผสานคอร์ดจาก E Major และ E Lydian Mode ซึ่งเป็น Key Center ที่สัมพันธ์กัน
2) การดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B แนวทำนองและคอร์ดมีความสอดคล้องสนับสนุนกันทั้งโน้ตเอกลักษณ์คือโน้ต A# และสมาชิกโน้ตในคอร์ด F#7(add4)
3) นำการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B กลับมาเป็นวัตถุดิบในเพลงช่วงการแปรทำนองของกีตาร์ไฟฟ้า โดยผสมผสาน Lydian Mode ตลอดจนบทบาทโน้ตเอกลักษณ์ที่สัมพันธ์กับคอร์ดประเภท Major ได้แก่คอร์ด F#7(add4) และ E(add9)