คำแนะนำให้บริโภคพืชผักผลไม้ว่ากันมานานจนคล้ายแผ่นเสียงตกร่อง ผู้บริโภคเองก็เชื่อว่าให้ประโยชน์ แต่ผู้คนในโลกยังบริโภคผักผลไม้ไม่พอเพียง เป็นผลมาจากความนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมยิ่งวันยิ่งมีมากขึ้น ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านั้นย่อยและดูดซึมได้ง่าย รสชาติอร่อย ถูกปาก หากบริโภคบ่อยอาจนำปัญหาสุขภาพให้ตามมาได้ ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานประเภทที่สอง โรคมะเร็งและอีกสารพัดโรค รู้ทั้งรู้แต่ผู้คนก็แทบไม่ปฏิบัติ
เวลานี้นักโภชนาการกำลังหาทางแนะนำให้บริโภคพืชผักผลไม้กันอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผักใบ ผักหัว ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเมล็ดเปียก ถั่วเปลือกแข็ง นัท สีด ผลไม้ ซึ่งให้ใยอาหารชนิดละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ โดยใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ (Insoluble fiber) ช่วยดึงดูดน้ำเข้าไปในอุจจาระ ทำให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายง่ายขึ้น ช่วยส่งเสริมสุขภาพและการทำงานของลำไส้ สร้างความว่องไวในการทำงานของอินซูลิน ลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เส้นใยกลุ่มนี้พบได้รำข้าว ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี ช่วยเพิ่มมวลให้กับอุจจาระช่วยให้อาหารผ่านกระเพาะและลำไส้ได้เร็วขึ้น
ส่วนเส้นใยที่ละลายน้ำ (Soluble fiber) ผสมเข้ากับน้ำในทางเดินอาหารได้ง่ายทำให้ย่อยได้ช้า ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ควบคุมน้ำตาลในเลือด ใยอาหารกลุ่มนี้พบได้ในธัญพืช ข้าวโอ๊ต เมล็ดพืช พืชตระกูลถั่ว ถั่วลันเตา ถั่วต่างๆ ผักบางชนิด แอปเปิ้ล ผลไม้รสเปรี้ยว แครอท ข้าวบาร์เลย์ และกากใยจากอุตสาหกรรม
ในวารสาร Nutrients เดือนตุลาคม 2023 ทีมโภชนาการจากมหาวิทยาลัยมินเนโซตานำเสนอผลวิจัยโดยเน้นว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งอีกประเภทหนึ่งในพืชผักผลไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชผักที่มีใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำคือสารไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) หรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactives) ซึ่งมีจำนวนมากมายนับหมื่นชนิด เป็นต้นว่า เกอซิทิน เรสเวอราทรอล คะเทชิน แอนโทไซยานิน ลูทีน ไลโคปีน และเบต้าแคโรทีน ฯลฯ ทีมวิจัยแนะนำให้บริโภคพืชผักผลไม้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหารทางอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้านสารไฟโตนิวเทรียนท์ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังแนะนำให้บริโภคสิ่งที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการอุตสาหกรรม อย่างเช่น รำ เปลือก เยื่อ หรือกากใย โดยเสริมในปริมาณที่มากพอ แนะนำกันอย่างนั้นและอยากให้ปฏิบัติ ใครจะว่าเป็นแผ่นเสียงตกร่องก็ไม่เป็นไร