“ติโลกอาราม” ผลงานภาพถ่ายของ “เกรียงศักดิ์ ขวัญสง่า” เมื่อปี พ.ศ. 2553 ไม่มีเทคนิคการถ่ายภาพอันซับซ้อนเพียงแต่ปรับค่า ISO ให้มองเห็นภูมิทัศน์ในยามเย็นลายเส้นวัตถุชัดเจนภาพชัดเจน ภาพถ่าย “ติโลกอาราม” เป็นภาพถ่ายธรรมดาแต่พบว่า ภาพถ่ายถูกดาวน์โหลดและนำไปเผยแพร่มากที่สุดในบรรดาภาพถ่ายสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย
จังหวัดพะเยามีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ภาพถ่ายจำนวนมากของจังหวัดพะเยา ถูกนำมาใช้ประชาสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจเพื่อเรียกร้องความสนใจจากนักท่องเที่ยว ภาพถ่ายกิจกรรมเวียนเทียนกลางน้ำวัดติโลกอารามซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกเพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ มีกิจกรรมเวียนเทียนกลางน้ำซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีแห่งเดียวในโลก
ช่างภาพ “เกรียงศักดิ์ ขวัญสง่า” นอกจากเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ “นครนิวส์การพิมพ์” เขายังเป็นช่างภาพฝีมือดี เป็นช่างภาพผู้โชคดีที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเวียนเทียนกลางน้ำวัดติโลกอารามเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผลงานภาพถ่ายของเขาหลายชิ้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ภาพถ่ายจำนวนมากถูกดาวน์โหลด แชร์ผ่านโซเชียลมีเดี่ย ถูกละเมิดลิขสิทธ์ นำไปเผยแพร่ ตีพิมพ์ตามสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ
เกรียงศักดิ์ ขวัญสง่า เเริ่มถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายภาพแบบฟิล์มซึ่งเป็นกล้องที่ยืมมาจากเพื่อน หลังจากอัดล้างฟิล์มก็พบว่าภาพถ่ายของตนเองไม่สวยงาม ไม่น่าประทับใจ จนมีความคิดที่จะเลิกถ่ายภาพ หลายปีผ่านเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพเปลี่ยนแปลงสู่กล้องระบบดิจิตอล จึงเลือกซื้อกล้องถ่ายภาพแบบมืออาชีพ (PRO) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ตนเองถ่ายภาพให้ดีขึ้น โดยคิดว่า หากถ่ายภาพด้วยกล้องแบบมืออาชีพแล้วผลงานยังไม่สวยก็จะเลิกถ่ายภาพ มินานนักฝีมือการถ่ายภาพของเกรียงศักดิ์พัฒนาอย่างรวดเร็ว แจ้งเกิดช่างภาพชื่อ “เกรียงศักดิ์ ขวัญสง่า” ให้กลายเป็นที่รู้จักของคนพะเยา เกรียงศักดิ์ก่อตั้งกองบรรณาธิการนิตยสาร Free copy ของจังหวัดพะเยาชื่อว่า “กว๊านพะเยา”
“การถ่ายภาพทำให้เรามองเห็นคุณค่าของกว๊านพะเยาว่ามีค่ามหาศาล แต่บ้านเราขาดการนำเสนอจึงทำให้หลายคนมองข้ามผ่านกว๊านพะเยา จากราคาหนึ่งล้านบาท แต่ทำงานเพียงหนึ่งพันบาท”
ฟังแล้วก็ทำให้นึกถึงภาพถ่ายของเกรียงศักดิ์ ซึ่งเป็นภาพอันมีคุณค่าแต่กลับถูก coppy นำไปตีพิมพ์ในเว็บไซต์และนิตยสารหลายฉบับ ปัญหาของการถ่ายภาพของมืออาชีพในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องแสง แต่คือปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพถ่าย บุคคล กลุ่มบุคคล ใช้ภาพถ่ายของช่างภาพแสวงหาประโยชน์ หลายครั้งพบว่า ภาพถ่ายของช่างภาพจังหวัดพะเยาถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ถูกนำไปตีพิมพ์ในนิตยสาร ใช้ในแผ่นพับงานโฆษณา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพถ่าย
ช่างภาพมืออาชีพมีวิธีการเก็บรักษาภาพและแบ่งประเภทภาพถ่ายของตนเองเป็น 3 ประเภท ภาพเกรด C อันเป็นภาพถ่ายแจกฟรี อนุญาตให้บุคคลทั่วไปใช้ ภาพเกรด B อันเป็นภาพถ่ายสำหรับใช้งาน ไม่ได้มีไว้แจกจ่าย ใครอยากได้ก็ต้องขออนุญาต ภาพเกรด A อันเป็นภาพถ่ายคุณภาพสูง สามารถใช้งานทำบิวบอร์ดโฆษณา ไฟล์ภาพจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีไม่มีการเผยแพร่ให้กับสาธารณะ
สิ่งที่กองบรรณาธิการควรรำลึกไว้เสมอคือ การนำภาพของบุคคลอื่นอันมีลิขสิทธิ์มาใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ ควรติดต่อเพื่อขอนุญาตใช้ภาพกับทางช่างภาพ หลายกองบรรณาธิการติดต่อขอใช้ภาพถ่ายจากช่างภาพ แม้จะไม่มีค่าใช้จ่ายแต่ก็ให้เครดิตผลงาน ฉะนั้น กองบรรณาธิการหรือเจ้าของเว็บไซต์ต้องระมัดระวังการใช้ภาพถ่ายในการตีพิมพ์หรือเผยแพร่