STORY OF GUITAR :  แจ้งเกิดกีตาร์แบรนด์ PRS ในประเทศไทยด้วยดนตรีนูเมทัล

ประเทศไทยปี 2000 เกิดปรากฎการณ์ทางดนตรีในกลุ่มนักฟังเพลงเมทัล กระแสดนตรีแนวใหม่ชื่อว่า นูเมทัล (NU METAL) ฉุดความสนใจให้หนุ่มสาวคนไทยเริ่มฟังเพลงสากล เสียงดนตรีอันเร่าร้อน แปลกต่าง กระแทกกระทั้นอารมณ์ ผสมผสานดนตรี heavy metal กับ hip hop ตัวอย่างเพลง Numb หรือ In The End ของ Linkin Park นักดนตรีจำนวนมากพยายามเล่นตามแบบฉบับ เช่นเดียวกับ ภานุวัฒน์ พรหมแดน (หมู) เขากำลังหัดเล่นกีต้าร์ตามแบบ Brad Delson เฝ้ามองกีต้าร์ที่ Brad Delson กำลังเล่นในมิวสิควีดีโอเพลง นั่นคือกีตาร์แบรนด์  PRS หรือ Paul Reed Smith  

นักเขียนบทความกีตาร์ของเมืองไทย (Guitar Blogger)

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับกีตาร์บนเว็บไซต์ (guitar blogger) ชอบฟังดนตรีแนวเมทัลยุค 2000 ชอบเสียงกีตาร์ PRS ที่มีลักษณะพิเศษ ศิลปินที่ผมชื่นชอบส่วนใหญ่ใช้กีตาร์ Paul Reed Smith (PRS) เช่น Brad Delson วง Linkin Park, Dan Estrin วงHoobastank , Mark Tremonti แห่งวง Creed และ Alter Bridge, Dan Donegan แห่งวง Disturbed และ Wes Borland แห่ง Limp Bizkit เป็นต้น ภาพจำของวงที่ตัวเองฟังในช่วงวัยรุ่นทำให้ผมชอบกีตาร์แบรนด์ PRS และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์นี้มาอย่างยาวนานหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านตาม forums ของเว็บไซต์ต่างประเทศ เก็บข้อมูลจากการอ่านหนังสืออ้างอิงของต่างประเทศ รวมถึงติดต่อโดยตรงไปยังบริษัท PRS เพื่อขอข้อมูลแบบละเอียด

เมื่อสิบปีก่อน ผมนำข้อมูลกีตาร์ PRS พูดคุยแลกเปลี่ยนทาง guitarthai.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ศูนย์รวมเครื่องดนตรีและนักดนตรีของไทย ต่อมาผมทำเว็บไซต์ของตนเองชื่อว่า moopanuwat.com เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกีตาร์ PRS เป็นภาษาไทยซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน หลังจากนั้นเมื่อสื่อโซเชียลเป็นที่นิยมมากขึ้น ผมได้เพิ่งช่องทางสื่อสารโดยตั้งกลุ่ม Facebook ชื่อ PRS Thailand เผยแพร่บทความและสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องดนตรีแบรนด์ PRS ทำให้สามารถกระจายข่าวสาร แลกเปลี่ยนข้อมูล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างรวดเร็ว

วันหนึ่ง ตัวแทนจัดจำหน่าย PRS ประเทศไทย ติดต่อขอให้ผมช่วยประชาสัมพันธ์ และทดสอบกีตาร์ ผมจึงมีโอกาสทดสอบกีต้าร์ PRS เกือบทุกรุ่น เริ่มเก็บสะสมกีต้าร์ PRS รวมหลายสิบตัว ผมซื้อและขายกีตาร์เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์กับกีตาร์ ปัจจุบันผมเหลือกีตาร์ PRS 5 ตัว แต่ตัวเลขนี้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดนะครับ (หัวเราะ)

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน คนไทยเริ่มรู้จักกีต้าร์ PRS เพราะมิวสิควีดีโอเพลง วัยกลางคนรู้จัก PRS เพราะ Carlos Santana วัยรุ่นรู้จักกีตาร์ PRS เพราะ Linkin Park คนรุ่นใหม่รู้จักกีต้าร์ PRS เพราะ John Mayer ซึ่งปัจจุบันมี Signature Guitar ชื่อ PRS Silver Sky ส่วนศิลปินคนอื่นที่ใช้กีต้าร์ PRS ก็มีอีกมาก แต่อาจไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยนัก ศิลปินพรีเซนเตอร์มีผลต่อการรับรู้แบรนด์กีต้าร์และการตัดสินใจซื้อกีต้าร์ของคนไทยเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น กีต้าร์ PRS  Silver Sky  หลายคนตัดสินใจซื้อเพราะ John Mayer

นั่นเป็นเหตุผลทำให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานในสหรัฐอเมริกา โรงงานในทวีปเอเชียซึ่งเป็นฐานการผลิตกีตาร์ PRS รุ่น SE Series ปี 2022 มีการขยายฐานการผลิตในประเทศอินโดนีเซีย เพิ่มกำลังการผลิตกีตาร์ PRS รุ่น SE เป็นจำนวน 3 เท่าตัว เพราะกีตาร์ PRS SE Series มีการเติบโตสูงมากเนื่องจากเป็นกีตาร์ราคาประหยัด ผู้บริโภคทั่วไปเอื้อมถึงได้ กำหนดราคาขายไม่สูงมาก คือตั้งแต่ประมาณ 17,000 – 50,000 บาท  

เหตุใดกีตาร์ PRS รุ่นเก็บสะสมจึงมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ

กีตาร์เก่าบางตัวราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะกีตาร์บางรุ่นมีตลาดเฉพาะกลุ่มรองรับและเป็นที่ต้องการของนักสะสม เช่น PRS Modern Eagle , PRS Dragon , PRS  Limited Edition กีตาร์คุณภาพสูงเหล่านี้เป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลที่นักสะสมนิยมเก็บกีตาร์ราคาสูงบางรุ่นนั้น นอกจากเพราะสเปคของตัวกีตาร์เองแล้ว เรื่องราวของกีตาร์ก็มีส่วนสำคัญ

ปัจจัยที่ทำให้กีตาร์ PRS บางตัวมีราคาสูง มีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง คือ

1.สเป็ค (specs) หรือส่วนประกอบการผลิตกีตาร์ เช่น PRS Modern Eagle ME1 ผลิตจากไม้คอบอร์ดบลาซีเลี่ยนโรสวูดทั้งแท่ง ซึ่งในปี 2003 มีเรื่องราวกล่าวขานว่า PRS Modern Eagle ME1 เสียงดี ปัจจุบันกีตาร์ไม่สามารถผลิต PRS Modern Eagle ME1 ได้อีกแล้วเพราะไม้ที่ใช้ในการผลิตเป็นไม้หวงห้ามเพราะผิดกฎหมาย นั่นทำให้ความต้องการกีตาร์ PRS Modern Eagle ME1 มากขึ้นเรื่อยๆ

2.จำนวนการผลิตที่น้อย ( Limited Edition Models ) และเรื่องราว ( Story ) กีตาร์ประเภทนี้ผลิตขึ้นสำหรับการสะสม เมื่อขายหมด ลูกค้าไม่สามารถสั่งทำจากโรงงานได้อีก ทำให้มูลค่าในตลาดสูงขึ้น

3.ศิลปินพรีเซ็นเตอร์ที่สร้างเรื่องราวให้กับกีต้าร์รุ่นนั้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกีตาร์รุ่นนั้น เช่น Robben Ford  Limited Edition McCarty เพราะเขาลงลายมือชื่อตัวบนกีต้าร์ นักสะสมต้องการเรื่องราวแบบนี้ นั่นทำให้คนเล่นกีตาร์คาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตกีตาร์ Robben Ford  Limited Edition McCarty จะมีค่ามากกว่ากีต้าร์ทั่วไป

ประเทศไทยมีการซื้อขายกีต้าร์แบรนด์ PRS ราคาซื้อขายสูงสุดจำนวน 2 ล้านกว่าบาท กีต้าร์ PRS ราคาสูงกว่านี้ก็มี แต่ผู้ครอบครองยังไม่ขาย กีต้าร์ PRS ราคาสูงบางตัวผลิตด้วยมือ เช่นใช้มือแกะสลักกีต้าร์เป็นรูปร่างต่างๆ เช่น นก มังกร เสือ ซึ่งปัจจุบัน PRS ผลิตชิ้นงานแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว

การประเมินมูลค่าของแบรนด์กีตาร์ PRS หากจะนำไปเปรียบเทียบกับ Gibson หรือ Fender เปรียบเทียบกันยาก เพราะจุดขายของแบรนด์แตกต่างกัน Gibson หรือ Fender เป็นแบรนด์เก่าแก่ ศิลปินใช้งานมานาน มีเรื่องราว มีบทเพลงมากมายถูกเล่าเรื่องด้วย Gibson หรือ Fender เมื่อแฟนเพลงได้มองเห็นศิลปินเล่นกีต้าร์ กีตาร์ก็เป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆเพราะได้รับอิทธิพลจากศิลปินที่เขาชื่นชอบ กีตาร์แบรนด์ PRS ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เช่น อัพเกรดคุณภาพไม้ การตกแต่งประดับประดา การพัฒนาคุณภาพกีตาร์เพื่อสร้างจุดขาย

กีตาร์ PRS แต่ละรุ่นคุณภาพเสียงแตกต่างกันมากหรือไม่?

กีตาร์ PRS ทุกตัวมีคุณภาพเสียงที่ดีเพียงพอสำหรับการใช้งานระดับมืออาชีพ จากประสบการณ์ที่ผมใช้ PRS หลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นราคาต่ำผลิตจากโรงงานเกาหลีหรืออินโดนีเซียถึงรุ่นหายากที่ผลิตในโรงงานสหรัฐอเมริกาคุณภาพเสียงไม่แตกต่างกันมาก เราสามารถใช้กีตาร์รุ่น SE ระดับราคาเริ่มต้นทำงานมืออาชีพได้เลย สิ่งที่ทำให้กีตาร์แตกต่างคือ กระบวนการผลิต เช่น signature guitar หรือ Limited guitar กีตาร์ราคาสูงเพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากรูปแบบการผลิตปกติ เช่น ค่าส่วนแบ่งการขายให้กับศิลปินเจ้าของลายเซ็น งบประมาณที่ใช้ทำการตลาด คุณค่าวัสดุที่แตกต่างจากรุ่นปกติ เป็นต้น หากต้องการกีตาร์เพื่อเน้นใช้งานและความคุ้มค่า เราสามารถเลือกซื้อกีตาร์ราคาประหยัดที่ผลิตจากเกาหลีหรืออินโดนีเซีย

ผมคิดว่า การเลือกซื้อกีตาร์ PRS ควรพิจารณาจากงบประมาณและการใช้งาน ปัจจุบันตลาดกีตาร์ขยายตัวมากขึ้น การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตกีตาร์สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคอยากครอบครองกีตาร์รุ่นใหม่อยู่เสมอ ส่งผลให้พฤติกรรมคนซื้อกีต้าร์เปลี่ยนแปลง คนซื้อกีตาร์มากขึ้น เปลี่ยนกีตาร์บ่อยขึ้น วันนี้ซื้อ พรุ่งนี้ขายก็เห็นกันบ่อย จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้ซื้อเครื่องดนตรี ผู้ซื้อบางคนเชื่อว่า กีตาร์ราคาแพงทำให้อยากเล่นมากขึ้น ช่วยพัฒนาฝีมือขึ้นได้ แต่จากประสบการณ์ของผมซึ่งใช้กีตาร์ราคาแพงหลายตัว ผมคิดว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะกีตาร์ราคาแพงไม่ช่วยให้เราพัฒนาการเล่นได้ในระยะยาว

หลายคนยึดติดกับความสวยและความหรูหราของกีตาร์ ลืมว่ากีตาร์ถูกสร้างมาเพื่อเล่น ไม่ว่ากีตาร์ราคาเท่าใด สิ่งสำคัญคือเราต้องใช้เวลาอยู่กับกีตาร์ ทำความคุ้นเคยกับกีตาร์ ค้นหาคุณลักษณะพิเศษของกีตาร์ แล้วกีตาร์ตัวนั้นจะกลายเป็นเพื่อนคู่ใจของเราไปอีกนาน หากคิดแบบนี้ร่องรอยบนกีตาร์จะกลายเป็นเรื่องราวอันเป็นคุณค่า ไม่ใช่จุดตำหนิของกีตาร์ บางทีเราอาจจะค้นพบว่า ความสุขแท้จริงของการเล่นกีตาร์ไม่ต้องใช้เงินทองมากมาย

 สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)

admin